สบยช.ชวน ลด ละ เลิก ดื่มเหล้า “เข้าพรรษา” ลดเสี่ยงตับแข็ง-สมองเสื่อม
กรมการแพทย์ ชวนคนไทย ลด ละ เลิก ดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษา ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม ตับแข็ง แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ย้ำ! ผู้มีอาการพิษสุราเรื้อรัง ไม่ควรหยุดดื่มเองทันที ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุรา คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผลต่อสมอง ทำให้สมองเสื่อม ความคิด ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด ผลต่อตับในระยะแรกจะเกิดไขมันสะสมในตับ ต่อมาจะเกิดภาวะตับอักเสบ และภาวะตับแข็งตามมา ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และยังส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายอีกมากมายทำให้เกิดภาวะผิดปกติตามมา เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำลง เกลือแร่ในร่างกายขาดความสมดุล
พิษของสุราแบบเฉียบพลัน ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย พิษของสุราแบบเรื้อรัง ผู้ดื่มจะหมกมุ่นในการหาสุรามาดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ การทำหน้าที่ในชีวิตบกพร่อง เสียสุขภาพและเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวรวมถึงสูญเสียหน้าที่การทำงาน การดื่มสุรานอกจากส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มเองแล้วยังส่งผลกระทบต่อสังคมในอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น และที่ชัดเจนที่สุด คือ การดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดการบาดเจ็บและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การดื่มแล้วขับยังมีความผิดต้องรับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2567 นี้ ขอเชิญชวนประชาชนคนไทย ลด ละ เลิก ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง ซึ่งการลดปริมาณการดื่มสุราลงจะทำให้ผู้ดื่มมีสุขภาพดีขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ก็ลดลง รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ดื่มสามารถเลิกดื่มสุราได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ในผู้ที่มีอาการพิษสุราเรื้อรังและดื่มแบบเสี่ยงรุนแรง ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ดื่มมากกว่าตั้งแต่ 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไปและดื่มวันละมากกว่า 5 ดื่มมาตรฐาน ซึ่งเทียบได้กับเบียร์ 4 กระป๋องหรือ 2 ขวดใหญ่, เหล้าแดงครึ่งแบน ไม่ควรหยุดดื่มเองทันที ควรหยุดดื่มภายใต้การดูแลของแพทย์เพราะอาจจะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ แนะนำผู้ดื่มและครอบครัวสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่หยุดดื่มกะทันหัน
หากพบมีอาการ มือสั่น เหงื่อออก เป็นไข้ สับสน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน หวาดระแวงคิดว่าจะมีใครมาทำร้าย ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาหรือเข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดสุราได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165