ระวังไว้! พฤติกรรมเผลอทำยามเครียดที่ส่งผลเสียกับร่างกาย
ยามที่ตกอยู่ในความกังวลหรือเกิดความเครียด แทบทุกคนมักแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาจนเห็นได้ชัด ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของเราอย่างมากเลยทีเดียว วันนี้เรามาพูดถึงพฤติกรรมยามเครียดและผลกระทบที่ส่งต่อร่างกายของมันกัน
กัดเล็บ
เชื่อว่าหลายคนชอบกัดเล็บตัวเองเป็นประจำ โดยเฉพาะตอนดูหนังสยองขวัญหรือคิดอะไรไม่ตก ซึ่งพฤติกรรมหมกมุ่นเช่นนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจากนิวยอร์กก็ชี้แจงผลร้ายมาว่า นอกจากการกัดเล็บจะเป็นต้นเหตุให้เล็บของคุณไม่เรียบสวยแล้ว เชื้อโรคและแบคทีเรียจากช่องปากและที่ติดอยู่รอบ ๆ บริเวณเล็บ ยังจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนที่อยู่กันอย่างเมามัน กลายเป็นปัญหาสุขภาพอย่างเชื้อราที่เล็บ รวมทั้งปัญหาช่องปากและลำคออักเสบจากการติดเชื้อ ดังนั้นทางที่ดีควรยับยั้งตัวเองไม่ให้กัดเล็บดีกว่า หรือสำหรับคุณผู้หญิงทั้งหลาย อาจทาเล็บสวย ๆ เป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้กัดเล็บก็ได้
ดึงผมตัวเอง
แม้จะไม่ถึงขั้นจิกทึ้งผมของตัวเอง แต่การแสดงสภาวะเครียดด้วยการดึงผมตัวเองเล่นก็เป็นสัญญาณหนึ่งของโรคทางจิตที่เรียกกันว่า โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania) ซึ่งอาจทำให้คุณสูญเสียเส้นผมเป็นหย่อม ๆ เสียบุคลิก และอาจพัฒนาจนรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว หรือผลเสียอย่างเบาะ ๆ ก็ทำให้รากผมอ่อนแออย่างถาวร ซึ่งหากคุณเป็นคนที่ชอบดึงผมตัวเองเล่นเป็นประจำ ก็คงไม่ต้องแปลกใจถ้าจะเห็นเส้นผมตัวเองหลุดร่วงมากเกินปกติ ฉะนั้นหากรู้ตัวว่าเสพติดการดึงผม โดยเฉพาะยามที่ตกอยู่ในสภาวะเครียด ลองหาทางแก้ปัญหาหรือไปปรึกษาจิตแพทย์ดีกว่านะคะ
โยกบิดคอคลายความเมื่อยล้า
ยามเมื่อยืดเส้นยืดสายสักหน่อยก็สามารถทำให้เราคลายความตึงเครียดได้ไม่น้อย หลายคนเลยชอบหมุนคอไปมาหรือโยกคอไปข้างใดข้างหนึ่ง พอให้เกิดเสียงก๊อกก็รู้สึกดีขึ้นเยอะแล้วใช่ไหมคะ แต่อย่าเพิ่งยิ้มกริ่มไป เพราะศาสตราจารย์นายแพทย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแอตแลนติก ได้เผยว่า พฤติกรรมบิดเอี้ยวคอไปข้างใดข้างหนึ่งอาจเสี่ยงทำให้ข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังกับกระดูกคอผิดรูปเอาได้ หรืออย่างน้อย ๆ ก็จะเร่งการสะสมพังผืดบริเวณข้อต่อส่วนนั้น จนส่งผลกระทบให้เกิดอาการปวดคอเรื้อรังในอนาคตได้เลยทีเดียว
กัดฟัน
ใครที่รู้ตัวว่าชอบเผลอกัดฟันยามตกอยู่ในสภาวะเครียดหรือกดดันขอให้เลิกพฤติกรรมนี้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพปากและฟันเตือนมาว่า พฤติกรรมบดเคี้ยวฟันบ่อยๆ อาจทำให้คุณเกิดปัญหาช่องปากได้สารพัด ทั้งฟันบิ่น หัก แตก เสียรูป หรือใหญ่โตไปถึงขั้นมีภาวะความผิดปกติของข้อขมับและขากรรไกรล่างไปเลย ซึ่งก็แน่นอนว่าคงส่งผลต่อการพูดและการเคี้ยวอาหารของคุณอย่างไม่ต้องสงสัย
ขบกระพุ้งแก้ม
ดูแล้วน่าจะเป็นพฤติกรรมคลายเครียดที่ทำเอาเจ็บไม่น้อย แต่เชื่อไหมคะว่ายามเครียด ๆ หลายคนก็เผลอกัดกระพุ้งแก้มตัวเองโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็จะทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณกระพุ้งแก้มเกิดช่องโหว่ น้ำลายและเหล่าเชื้อโรคก็จะไหลมาฝังตัวอยู่ในช่องโหว่นั้น เป็นผลให้เป็นแผล บวม และต่อยอดไปเป็นอาการอักเสบเรื้อรังเอาได้
ลูบไล้ใบหน้า
อากัปกริยาสุดฮิตที่คนตกอยู่ในห้วงของความคิดคำนึงชอบทำก็มักจะเป็นการใช้มือลูบไล้ใบหน้าตัวเองหรือเท้าคางเหม่อลอย ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจาก SUNY Downstate Medical Center นิวยอร์กก็ให้ข้อมูลว่า การใช้มือสัมผัสกับผิวหน้าเป็นสาเหตุให้เซลล์ผิวระคายเคือง บวกกับเชื้อโรคและแบคทีเรียที่ลอยนวลอยู่บนผิวมืออาจย้ายมาเกาะอยู่บนใบหน้าคุณได้ง่าย ๆ หนักเข้าก็ก่อให้เกิดปัญหาสิวและผิวหน้าอักเสบ ลุกลามไปถึงขั้นเกิดริ้วรอยและแผลเป็นรักษายาก ถ้าอย่างนั้นคงจะดีกว่าแน่ ๆ หากเราหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าไปเลย อย่างน้อยก็ลดสาเหตุการเกิดสิวและริ้วรอยบนใบหน้าได้บ้างล่ะเนอะ
เคี้ยวหมากฝรั่ง
ถ้าเคี้ยวหมากฝรั่งวันละ 1-2 ชิ้นคงไม่เกิดปัญหาอะไร แต่สำหรับคนที่ระบายความเครียดและความกดดันด้วยการเคี้ยวหมากฝรั่งไม่ได้เคี้ยวในปริมาณน้อยขนาดนั้นนี่คะ เบาะ ๆ ก็ปาเข้าไปกว่า 10 ชิ้นต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งสถาบันโรคระบบทางเดินอาหารนานาชาติสหรัฐอเมริกา (NDDIC) ก็เผยว่า หมากฝรั่งไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบกับปัญหาสุขภาพช่องปากเท่านั้น แต่สารให้ความหวานแทนน้ำตาลรวมทั้งชอร์บิทอลในหมากฝรั่งยังเป็นต้นเหตุของอาการท้องอืดและอาหารไม่ย่อยด้วย เนื่องจากทั้งคู่จัดเป็นสารเคมีที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้นั่นเอง
เสพติดอมยิ้มและลูกกวาด
ความหวานของเจ้าอมยิ้มและลูกกวาดสีสวยสามารถกระตุ้นอารมณ์ดี ๆ ให้เราได้ก็จริง แต่หากคุณเป็นคนที่เครียดเมื่อไรก็เกิดอาการเสพติดอมยิ้มและลูกกวาดเมื่อนั้น แถมยังกินชนิดที่เรียกว่าไม่แคร์ระดับน้ำตาลในเลือดกันเลย ลักษณะนี้อาจไม่ค่อยดีต่อสุขภาพปากและฟัน รวมไปถึงโรคความดัน เบาหวาน และโรคที่มีปัจจัยเรื่องระดับน้ำตาลในเลือดเกี่ยวข้องแล้วล่ะค่ะ เพราะนอกจากฟันจะผุแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินขีดจำกัดยังอาจทำให้คุณไม่รู้สึกหิวจนกินข้าวไม่ลง ส่งต่อผลกระทบไปที่โรคกระเพาะอีกโรคหนึ่งด้วย