สปสช. ร่วมขับเคลื่อนโครงการ “รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติฯ” เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย
สปสช. ร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม ขับเคลื่อน “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติฯ” ประชาชนรับบริการแล้ว 111,512 ราย ใส่รากฟันเทียมแล้ว 4,758 ราย ช่วยเข้าถึงบริการ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 67 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องในวันเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม ด้วยมหามงคลสมัยพิเศษยิ่งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานที่ได้ร่วมดำเนินการ “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ภายใต้ความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมการแพทย์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง
โครงการฯ นี้กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 ก.ย. 67 นอกจากบริการใส่ฟันเทียมที่กำหนดเป้าหมาย 72,000 ราย ให้กับคนไทยทุกสิทธิการรักษาแล้ว ในครั้งนี้ได้เพิ่มเติมการให้บริการรากฟันเทียมกับผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมในโครงการฯ แล้วมีภาวะสันเหงือกแบนราบ ฟันปลอมหลวม ใส่แล้วเจ็บ ใช้งานบดเคี้ยวอาหารไม่ได้ โดยเบื้องต้นกำหนดเป็นการให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ก่อน เพื่อนำร่องการจัดระบบบริการ ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้บริการจำนวน 7,200 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนี้ รวมถึงโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ที่ผ่านมาได้ทำให้ประชาชนไทยทั่วประเทศที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ทั้งสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ได้รับบริการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียมที่มีมาตรฐานและคุณภาพทางการแพทย์ เข้าถึงการรักษาและทำให้คุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลการดำเนินงานโครงการฯ ล่าสุดได้ให้บริการใส่ฟันเทียมประชาชนไทยแล้วจำนวน 111,512 ราย เกิดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 39,512 ราย และให้บริการใส่รากฟันเทียมสำหรับประชาชนที่มีสิทธิบัตรทองซึ่งมีปัญหาใส่ฟันปลอมแล้ว จำนวน 4,758 ราย หรือร้อยละ 65 ของเป้าหมาย ที่เป็นบริการเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหา และทำได้เฉพาะโรงพยาบาลบางแห่งที่มีศักยภาพเท่านั้น
“ด้วยโครงการฯ นี้ ทำให้ประชาชนไทยโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหารสามารถเข้าถึงบริการได้ ทั้งการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียม ที่เป็นบริการทันตกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูง นับเป็นพระมหากรุณธิคุณฯ ซึ่งจากผลสำรวจสุขภาพช่องปากประชาชนไทยของกรมอนามัยล่าสุด ปี 2566 พบว่ามีผู้สูงอายุสูญเสียฟันทั้งปากอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 ของผู้สูงอายุทั้งหมด หรือราว 8 แสนราย โดยส่วนหนึ่งได้รับการใส่ฟันเทียมแล้ว และยังมีผู้ที่ต้องใส่ฟันเทียมมีประมาณ 4 แสนราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ได้รับบริการจากโครงการฯ นี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว