สธ. ย้ำ “Digital Health” เป็นปัจจัยสาธารณสุขยุคใหม่ สร้างความยั่งยืนระบบสุขภาพไทย
ปลัด สธ. ย้ำความสำคัญ Digital Health ช่วยพัฒนาบุคลากร การเงิน โครงสร้าง เทคโนโลยีการบริการ ให้สอดคล้องบริบทพื้นที่และความต้องการของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนทางด้านสุขภาพให้กับคนไทยและระบบสาธารณสุขของประเทศ
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 67 ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาระบบริการสุขภาพ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ประจำปี 2567 “Digital Health Journey การเดินทางสู่ยุคดิจิทัล” โดยมี นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้บริหาร และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมประมาณ 2,500 คน
นพ.โอภาส กล่าวว่า สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมเมืองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระบบสาธารณสุขจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และความต้องการของประชาชน ทั้งเรื่องบุคลากร การเงิน โครงสร้าง และเทคโนโลยีการบริการ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขมีความยั่งยืนและช่วยลดภาระงบประมาณของประเทศ อาทิ การดูแลสุขภาพของคนไทยให้เจ็บป่วยน้อยที่สุด ได้รับการรักษาที่ดีและมีอายุยืนยาว, การทำให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่สะดวกสบาย ขณะที่บุคลากรสาธารณสุขก็ไม่มีภาระงานที่หนักเกินไป ได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการที่เหมาะสม มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
“สำหรับ Digital health ถือเป็นการปฏิวัติระบบสาธารณสุขไทย ที่รัฐบาลกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดดำเนินการ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก เช่น โครงการยกระดับ 30 บาท รักษาด้วยทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่สิ้นปีนี้จะครอบคลุมทุกจังหวัด, การพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ ประชาชนได้รับบริการสะดวก รวดเร็ว นำไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนทางด้านสุขภาพของคนไทย” นพ.โอภาส กล่าว
ด้านนพ.อนุกูล กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการฯ เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้บุคลากรเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปต่อยอดพัฒนาให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และพร้อมก้าวสู่ “ยุคสุขภาพดิจิทัล” ต่อไป โดยการประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2567 มีกิจกรรมทางวิชาการ ทั้งการนำเสนอสุดยอดผลงานวิชาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ของแต่ละเขตสุขภาพ การบรรยายเรื่อง “Cyber Resilience and Future Trends in Digital Health” โดย ดร.ปริญญา หอมอเนก และการเสวนาในหัวข้อต่างๆ