“ริมฝีปากบวม” สาเหตุและวิธีดูแล
อาการปากบวมหรือริมฝีปากบวมเป็นอาการที่หลายคนอาจเคยพบเจอ อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ ริมฝีปากบวมโตกว่าปกติ ปากเจ่อ โดยอาจเกิดกับริมฝีปากบนหรือริมฝีปากล่าง ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือริมฝีปากทั้งสองส่วน อาการปากบวมอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น เช่น เจ็บริมฝีปาก โดยเฉพาะเมื่อกดหรือสัมผัส ปากแห้ง อาการคันรอบปาก หรือเป็นแผลบริเวณริมฝีปาก ซึ่งอาการอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ
อาการริมฝีปากบวมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการแพ้ การบาดเจ็บ การติดเชื้อ และอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน อาการปากบวมที่ไม่รุนแรงอาจหายเองได้ แต่ถ้าหากอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม เพราะบางครั้งอาการนี้ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้
วิธีบรรเทาอาการปากบวมเบื้องต้น
– ประคบเย็นบริเวณริมฝีปากด้วยการใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กที่สะอาดและนุ่มมาห่อถุงน้ำแข็ง หรือนำไปชุบกับน้ำเย็นบิดหมาด จากนั้นนำมาประคบริมฝีปาก 10-15 นาทีเป็นพักๆ และหยุดเมื่อรู้สึกว่าเย็นเกินไป ความเย็นจะลดการไหลเวียนเลือดบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดบวม เพื่อป้องกันการระคายเคือง ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งประคบโดยตรงเพราะจะทำให้ผิวหนังบาดเจ็บ
– ใช้ครีมหรือสารที่มีฤทธิ์ปลอบประโลมผิว ในกรณีที่ริมฝีปากบวมเนื่องจากการระคายจากภายนอก อย่างริมฝีปากไหม้จากการตากแดด
– ใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการปากบวมจากโรคภูมิแพ้ โดยอาจเลือกใช้ยารับประทานหรือยาทาก็ได้ แต่เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ
– ใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAID) ที่ช่วยลดอาการปวดบวมและอักเสบ ซึ่งควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้เช่นเดียวกัน
– หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ปากบวม เช่น สารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองแพ้ สารเคมี น้ำหอม สารกันเสีย แอลกอฮอล์ และอาหารรสจัด เป็นต้น นอกจากนี้ควรระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อริมฝีปาก