เด็กไทยตกเป็นเหยื่อการตลาดบุหรี่ไฟฟ้า! เปิดตัวชุดนิทาน เด็กปลอดพอด สร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าทัน
สสส.เปิดตัว ชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า “เด็กปลอดพอด” เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก หลังพบ! เยาวชนไทย สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงภาวะซึมเศร้า “หมอประกิต” ชี้เด็กเสียชีวิตจากบุหรี่มือสองและสามถึง 65,000 ราย
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 67 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคี จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว ชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า “เด็กปลอดพอด” เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสุขภาพ รวมถึงหยุดการคุกคาม ปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าตัวเลขของเยาวชนไทยอายุ 10-19 ปี กว่าครึ่ง หรือ 53% ที่สูบบุหรี่ จะมีภาวะซึมเศร้า โดยเด็กที่เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มจะป่วยโรคซึมเศร้าสูงขึ้น 2 เท่า สอดคล้องกับผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS ปี 2565) โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) พบว่า เด็กนักเรียนอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 แม้ไทยมีกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่าย ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุจากการตลาดของผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่ดึงดูดใจเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงได้ง่าย ทั้งภาพลักษณ์ที่ทันสมัย แปลกใหม่ และหาซื้อได้ง่ายบนช่องทางออนไลน์
“เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก สสส. ขอใช้โอกาสนี้สานพลังภาคี 16 องค์กร และชุมชน 200 แห่ง แสดงพลังความร่วมมือปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า โดยการเปิดตัวชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ชื่อว่า เด็กปลอดพอด เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารการรู้เท่าทันภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเนื้อหาได้รับการสนับสนุนจากนักเขียน นักวาด และผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กร่วมผลิตขึ้น นำเสนอผ่าน 7 เรื่องราว ที่เน้นย้ำว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลโดยตรงต่อผลสุขภาพจิต เสี่ยงป่วยโรคซึมเศร้า ทำลายสมอง และคุณภาพชีวิตทุกด้าน สสส. มุ่งกระตุ้นสังคมและผู้แวดล้อมเด็กให้ได้ใช้หนังสือชุดนี้สื่อสารกับเด็กช่วงปฐมวัยและประถมศึกษาได้เรียนรู้และเฝ้าระวังภัยบุหรี่ไฟฟ้า ช่วยสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเปิดอ่านและดาวน์โหลดฟรีได้ที่เว็บไซต์ www.happyreading.in.th” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สถิติจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตสาเหตุจากการเสพบุหรี่ปีละ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กซึ่งเป็นผลมาจากบุหรี่มือสองและสามถึง 65,000 ราย สถานการณ์การระบาดบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะกลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเด็กมีอายุน้อยลง จากงานวิจัยติดตามวัยรุ่นที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง และการเกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจในสหรัฐอเมริกา 2,097 คน อายุเฉลี่ย 17 ปี ระหว่างปี 2557 กับ ปี 2562 ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Thorax ชี้ชัดว่า การได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสองมีโอกาสการเกิดหลอดลมอักเสบ และหายใจลำบาก โดยกลุ่มวัยรุ่นได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองเพิ่มขึ้นจาก 11.7% เป็น 15.6% กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง มีอัตราการหายใจมีเสียงวี้ดในปอด แสดงถึงอาการรูหลอดลมเล็กลง จากการเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม สาเหตุจากการระคายเคืองจากสารเคมีในไอบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 12.3% เป็น 14.9% มีอาการหลอดลมอักเสบเพิ่มจาก 19.5% เป็น 26% มีอาการหายใจไม่สะดวกเพิ่มจาก 16.5% เป็น 18.1%
“ความสัมพันธ์ของการเกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจจากการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง จะยิ่งชัดเจนในคนที่ไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเลย แสดงว่าไอบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อคนใกล้ชิดอย่างแน่นอน ซึ่งในหลายประเทศมีการรณรงค์ถึงอันตรายของไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ปอดอยู่ในระหว่างการเจริญเติบโต จะได้รับอันตรายรุนแรงกว่าเด็กโตหรือในผู้ใหญ่” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ กุมารแพทย์และรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การป้องกันการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา ต้องเริ่มต้นด้วยการเสริมทักษะความรู้ให้เท่าทัน ผ่านการสอนที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก ก่อนที่เด็กจะไปเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างผิดๆ จากเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องบนสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ปกครองบางคนให้ลูกทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์สูงสุด เมื่อพลาดไปลองแล้ว จะเสพติดแก้ไขไม่ทัน ทั้งนี้ ชุดสื่อนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้าที่ สสส. ได้สนับสนุนพัฒนาขึ้น จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยผู้ปกครองให้สามารถสอนลูกๆ ได้อย่างสะดวก เหมาะสมต่อพัฒนาการเด็ก และทันต่อสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า หนังสือภาพหรือนิทานทำหน้าที่สำคัญ คือ ตอบสนองความต้องการ ความสนใจ และธรรมชาติของเด็ก ทำให้สนุกสนาน เพลิดเพลิน ผ่อนคลายอารมณ์ และกระตุ้นการเรียนรู้ ช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่พ่อแม่ ผู้แวดล้อมเด็ก ชี้ชวนอ่านหนังสือให้ฟัง จะเกิดการถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ระหว่างเด็กกับผู้อ่านเพิ่มขึ้น หากได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจากคำถาม ความช่างสงสัย ไม่เพียงจะเป็นช่วงเวลาทองของเด็ก แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู สามารถให้ความรู้ ข้อคิด และปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับเด็กได้อีกด้วย