ไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 140,000 คนต่อปี สธ.ชี้การรักษาแบบประคับประคอง ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
กรมการแพทย์ จัดกิจกรรมสัปดาห์ World Hospice & Palliative Care Day 2024 ย้ำความสำคัญการรักษาแบบประคับประคอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เผยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 140,000 คนต่อปี เสียชีวิต 84,000 คนต่อปี ตัวเลขปี 67 มีผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะประคับประคอง 68,000 รายทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 67 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 140,000 คนต่อปี มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งประมาณ 84,000 คนต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคมะเร็งบางชนิดเมื่ออยู่ในระยะลุกลามหรือไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
การรักษาแบบประคับประคองหรือ Palliative Care จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2567 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะประคับประคองประมาณ 68,000 รายทั่วประเทศ สำหรับในเขตสุขภาพที่ 4 มีผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 4,000 ราย โดยโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรีให้บริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายแบบประคับประคอง จำนวน 801 ราย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายบูรณาการการดูแลสุขภาพผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้ในลักษณะองค์รวมโดยเน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ทั้งในระดับสถานพยาบาล ชุมชน และสังคมโดยรวม เพื่อให้การดูแลครอบคลุมทุกความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวในทุกมิติ
นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง มีการพัฒนาการดำเนินงานด้านการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำจำกัดความว่า เป็นการดูแลเพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวที่มีปัญหาเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่คุกคามต่อชีวิต รวมถึงการป้องกันและบรรเทาอาการทุกข์ทรมาน เน้นการดูแลแบบองค์รวม ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ของทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแล โดยดูแลคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและ ครอบครัว ที่จะทำให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการดูแลครอบครัว ภายหลังการจากไปของผู้ป่วย (Bereavement Care)
ทั้งนี้ การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และทีมสหสาขาวิชาชีพให้มีความเชี่ยวชาญ จึงเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคองที่ครอบคลุมทุกมิติ ตลอดจนทรัพยากรในการดูแลอย่างเหมาะสม บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถ มีทัศนคติที่ดี และมีทักษะที่ดีในการสื่อสารเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต World Hospice and Palliative Care Day เป็นกิจกรรมที่จัดพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมเป็นประจำทุกปี โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรีจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2567 นี้ ได้จัดประชุมวิชาการการดูแลแบบประคับประคอง เขตสุขภาพที่ 4 ครั้งที่ 6 World Hospice and Palliative Care Day 2024 ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต