สธ. เผยผลสำรวจสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นปี 65-67 เสี่ยงซึมเศร้า 51,789 ราย
กรมสุขภาพจิต ห่วง! ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น ข้อมูลปี 65-67 พบเสี่ยงซึมเศร้า 51,789 ราย เสี่ยงทำร้ายตนเอง 87,718 ราย ร่วมมือ TikTok-SATI App เปิดตัวโครงการ Mindful Makers ย้ำความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ในโลกโซเชียลมีเดีย พร้อมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิต สร้างชุมชนออนไลน์สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 67 กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำการส่งเสริมและการเข้าใจในปัญหาสุขภาพจิตจับมือ TikTok และเครือข่ายขยายการให้ความรู้และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ ย้ำชัดความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หากผู้ผลิตคอนเทนต์ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยการสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนสะสม 503,884 ราย ของกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 65 – 14 ต.ค. 67 พบเสี่ยงซึมเศร้าถึง 51,789 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.28 เสี่ยงทำร้ายตนเอง จำนวน 87,718 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.4 ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น ที่ต้องการการดูแลอย่างเร่งด่วนเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนว่าเราทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลนำโดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตและยาเสพติดเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ นโยบายเร่งด่วนที่ 8 ของรัฐบาลนั้น จะแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร รวมถึงนโยบายการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ ที่รัฐบาลต้องการยกระดับสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม บริษัท TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่มีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นในยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสื่อเหล่านี้ส่งผลต่อผู้ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเติบโตและพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ การสร้างพื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยมีความรับผิดชอบ และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี จึงเป็นความท้าทายและภารกิจสำคัญที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน
นพ.กิตติศักดิ์ เสริมว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด ร่วมกับการส่งเสริมป้องกัน สร้างความตระหนักและเพิ่มความรอบรู้ในสังคม เพราะฉะนั้นกรมสุขภาพจิตจึงมีบทบาทอย่างมากในการนำนโยบายทั้งหมดนี้ มาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาให้ระบบสุขภาพจิตของประเทศมีความก้าวหน้ายิ่งกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะในยุคดิจิทัลนี้ ไม่สามารถทำได้โดยภาครัฐเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กรมสุขภาพจิตนั้นมีความร่วมมือที่ดีกับทาง TikTok มาโดยตลอด กรมสุขภาพจิตเองเคยได้รับรางวัล “Social impact Partner of the Year” ในงาน “TikTok Awards Thailand 2022” ซึ่งกรมสุขภาพจิตเป็นส่วนราชการแห่งแรก ๆ ที่ใช้ Platform TikTok สื่อสารความรู้สู่ประชาชน ผ่านช่องทาง TikTok ของกรมสุขภาพจิต ชื่อว่า “thaidmh” และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน TikTok อย่างมาก โดยมีวิดีโอยอดวิวสูงสุดของกรมสุขภาพจิตนั้นมียอดวิวถึง 26 ล้านวิว และวิดีโอที่มียอดวิวสูงกว่าล้านวิวอีกเป็นจำนวนมาก
การที่บริษัท TikTok ได้ริเริ่มแคมเปญ ‘TikTok Mindful Makers’ ร่วมกับองค์การอนามัยโลกและ Mental Health Trust Network Program จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิตในวงกว้าง แคมเปญ ‘TikTok Mindful Makers’ นี้ ไม่เพียงแต่เป็นการใช้พลังของสื่อสังคมออนไลน์ ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างชุมชนออนไลน์ที่ให้การสนับสนุนและเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สร้างคอนเทนต์ออนไลน์ร่วมกันนำเสนอเนื้อหาที่ส่งเสริมความเข้าใจด้านสุขภาพจิต สร้างสังคมที่เห็นอกเห็นใจ และเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ทุกคนมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมทางออนไลน์ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้อง การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หรือการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังผู้ที่ต้องการ
ด้านนางชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ประจำประเทศไทย บริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ จำกัด กล่าวว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีเจตนารมณ์ในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และมอบความสุขให้กับผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่ทำให้แพลตฟอร์มของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TikTok ได้ให้คุณค่า และได้ดำเนินการในประเด็นสุขภาพจิตมาโดยตลอด เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานให้ความสำคัญและให้ความสนใจในการรับชมโครงการดูแลใจไปด้วยกันมากกว่า 13,000 ล้านครั้ง
จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตในปี 2564 พบว่า 1 ใน 7 ของเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล แม้ว่าคนส่วนใหญ่ของคนวัยนี้จะใช้ช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิต แต่ก็ยังเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และพบเจอปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจ
โดย Love Frankie ซึ่งเป็น partner ของ TikTok ได้ทำการสำรวจข้อมูลและพบว่าเยาวชนส่วนใหญ่แสดงออกถึงความต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเชื่อถือได้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น TikTok ได้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานและได้ริเริ่มโครงการ Mindful Makers ในประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข SATI App และเครือข่ายผู้สร้างเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและใจจาก generation ต่าง ๆ ที่มีทั้งจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คุณหมอ และคุณแม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีส่วนสำคัญในการเชื่อมความเข้าใจระหว่าง generation ด้วยว่าเรื่องสุขภาพจิตมีความละเอียดอ่อนและสามารถจัดการได้เร็วหากเราใส่ใจและให้ความสำคัญกันตั้งแต่แรก ที่ TikTok อยากมอบให้แก่ผู้ใช้งานทุกคนอีกด้วย