ระวัง!! การ “กลั้นจาม” อันตรายกว่าที่คิด
อาการ “จาม” คือกลไกป้องกันตัวของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ หรือเชื้อโรค เข้าไปในจมูก ระบบประสาทจะส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจามอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพื่อขับไล่สิ่งเหล่านั้นออกไปด้วยความเร็วลมทำให้การกลั้นจามเป็นเรื่องอันตราย เมื่อพยายามกลั้นจามด้วยการปิดปากและบีบจมูก หรือแม้แต่แค่ปิดปากอย่างเดียว เป็นการบังคับให้แรงดันอากาศมหาศาลที่ควรจะพุ่งออกมาจากร่างกาย ต้องย้อนกลับไปภายใน ซึ่งแรงดันนี้สามารถสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะภายในได้หลายส่วน
อันตรายจากการกลั้นจาม
– เส้นเลือดในสมองแตก
นี่คืออันตรายที่ร้ายแรงที่สุดและเป็นที่กล่าวถึงบ่อยที่สุด เมื่อแรงดันจากการจามถูกอั้นไว้ แรงดันนั้นจะพุ่งกลับขึ้นไปสู่ศีรษะ ทำให้เกิดแรงกดดันอย่างรุนแรงต่อหลอดเลือดขนาดเล็กในสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่การ เส้นเลือดในสมองแตก ได้ แม้จะเป็นกรณีที่พบได้น้อย แต่ก็เป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิต หรือทำให้เกิดความพิการถาวร
– เส้นเลือดในตาแตก
แรงดันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้เส้นเลือดฝอยเล็กๆ ในดวงตาแตก ทำให้เกิดจุดแดงๆ ในตา ซึ่งมักไม่มีอันตรายร้ายแรงและจะหายไปเอง แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่ามีแรงดันภายในร่างกายสูงเกินไป
– เส้นเลือดในหูหรือแก้วหูฉีกขาด
แรงดันที่ย้อนกลับเข้าไปในโพรงจมูกและคอ อาจส่งผลกระทบต่อท่อยูสเตเชียน ที่เชื่อมต่อจากคอไปยังหู ทำให้เกิดแรงดันในหูชั้นกลางสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ แก้วหูทะลุ หรือเส้นเลือดในหูแตกได้ ทำให้เกิดอาการปวดหู สูญเสียการได้ยินชั่วคราว หรือหูอื้อ
– ติดเชื้อในหูชั้นกลาง
ปกติแล้วการจามนั้นเป็นปฏิกิริยาของร่างกาย เพื่อกำจัดเอาสิ่งแปลกปลอม ดังนั้นการกลั้นจามจึงอาจทำให้เสมหะ น้ำมูก และน้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ไหลกลับเข้าไปพร้อมกับแรงดันอากาศ และไปยังบริเวณหู ทำให้เกิดการติดเชื้อหรือการอักเสบที่หูได้
– เจ็บคอหรือเจ็บหน้าอก
แรงดันจากการจามที่ถูกกักไว้ในลำคอหรือช่องอก อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ หน้าอก หรือกระบังลมเกิดการหดเกร็งหรือบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้
– กระบังลมฉีกขาด
ในบางกรณีที่รุนแรง การกลั้นจามด้วยแรงดันมหาศาลอาจทำให้กระบังลม ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่คั่นระหว่างช่องอกและช่องท้อง ฉีกขาดได้ แม้จะพบได้ยากมาก แต่ก็เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ทันที
– เส้นเลือดที่คอหรือหลอดลมเสียหาย
มีรายงานเคสที่ผู้ป่วยกลั้นจามแล้วทำให้เส้นเลือดบริเวณลำคอเสียหาย หรือแม้กระทั่งหลอดลมฉีกขาด ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและต้องผ่าตัดรักษา
เมื่อจะจามควรทำอย่างไร
– หันหน้าหนี หันหน้าไปจากคนรอบข้าง
– ใช้กระดาษทิชชู หรือข้อพับแขนปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและสารคัดหลั่ง
– เวลาจะจามอย่าปิดจมูกหรือปากสนิท ให้มีช่องว่างเล็กน้อยเพื่อให้แรงดันอากาศสามารถระบายออกไปได้บ้าง
หากไม่อยากจาม ควรทำอย่างไร
– รักษาโรคภูมิแพ้ บางคนอาจจะมีอาการจามเนื่องจากเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น แพ้ฝุ่น แพ้เกสรดอกไม้ การรักษาโรคภูมิแพ้โดยการใช้ยาแก้แพ้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการจามได้
– หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองในอากาศ เช่น เกสรดอกไม้ หรือฝุ่นควันต่างๆ
– อย่ามองแสงแดด เพราะบางคนอาจจะมีอาการมองแสงแล้วจาม (ACHOO syndrome)
– ล้างจมูก
– ใช้ยาพ่นจมูกสำหรับบรรเทาอาการแพ้
– สั่งน้ำมูก