ไขข้อสงสัย จ้องมือถือ-คอมพิวเตอร์ ในที่มืดนานๆ เสี่ยง “มะเร็งตา-ตาบอด” จริงหรือไม่?
หลายคนมักมีนิสัยนอนสไลด์มือถืออ่านทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือแม้กระทั่งดูคลิปจากยูทูปก่อนนอน แต่การใช้สายตาเพ่งลงไปบนจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ทำร้ายดวงตามากแค่ไหน
นพ.นนท์ รัตนิน จักษุแพทย์จากโรงพยาบาลจักษุรัตนิน ระบุว่า แสงที่ปล่อยจากมือถือในที่มืด และที่สว่างไม่ได้มีความแตกต่างกัน เมื่อเราอยู่ในที่มืดม่านตาของเราจะขยายมากขึ้น ถ้ามีแสงสว่างจ้าเกิดขึ้นม่านตาเราก็จะหดตัว การที่ดวงตาของเรารับแสงสว่างสลับกับความมืดภายในห้องบ่อยๆ จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน จะทำให้ม่านตาของเราต้องขยายและหดตัวบ่อยครั้ง จึงอาจส่งผลทำให้ม่านตาล้าเร็วขึ้น เสี่ยงโรคตาแห้ง โดยมีสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าอาจกำลังมีปัญหาตาแห้ง คือ ตาแดง แสบเคืองตา ตามัว น้ำตาไหล แต่ไม่ได้อันตรายถึงขั้นทำให้เป็นมะเร็งตา หรือทำให้ตาบอดได้
ใช้มือถือ คอมพิวเตอร์อย่างไร ให้ปลอดภัยต่อดวงตา
1. ปรับความสว่างของหน้าจอให้อยู่ในระดับที่พอดี พอมองเห็นจอได้ชัด ไม่สว่างจ้าหรือมืดจนเกินไป
2. อย่าให้มีแสงจากเพดาน หรือแสงจากนอกห้อง สะท้อนหน้าจอเข้าที่ดวงตา
3. พักสายตาบ่อยๆ ระหว่างใช้งาน เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์ 20 นาที หยุดทำงานเพื่อหลับตาลง 20 วินาที
4. ถ้ายังมีอาการตาแห้งอยู่ ควรใช้น้ำตาเทียม