ได้ผล! งานวิจัยพบฉีดแอสตร้าเซนเนก้าผสมไฟเซอร์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า ผลการวิจัยล่าสุดภายใต้ชื่อโครงการ Com-COV ที่จัดตารางการฉีดวัคซีนสองสูตรดังกล่าวร่วมกัน โดยทิ้งช่วงระยะเวลาต่างๆ กันออกไป เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการผสมวัคซีน สรุปว่า ไม่ว่าจะเว้นช่วงห่างเพียงใด การใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าร่วมกับวัคซีนของไฟเซอร์ ล้วนช่วยทำให้เกิดสารแอนตี้บอดี้ในปริมาณที่สูงมากเพื่อต่อต้านการเพิ่มขึ้นของโปรตีนโคโรนาไวรัสได้อย่างดี
แมทธิว สเนป ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ผู้อยู่เบื้องหลังการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า แม้ผลการศึกษาล่าสุดจะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการวางแผนแจกจ่ายวัคซีน แต่ไม่สามารถใช้เป็นคำแนะนำเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกมาแล้ว
สเนป ระบุว่า การจัดการฉีดจากสูตรเดียวทั้งสองเข็มนั้นควรเป็นหลักปฏิบัติที่คงไว้เช่นเดิม ยกเว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ซึ่งในส่วนของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการ 830 คน และได้รับการฉีดวัคซีนห่างกัน 4 สัปดาห์ระหว่างสองเข็ม มีการค้นพบว่า การฉีดเข็มแรกด้วยวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและเข็มที่สองเป็นของไฟเซอร์นั้น จะช่วยเพิ่มปริมาณแอนตี้บอดี้ได้สูงกว่า การที่เข็มแรกเป็นของไฟเซอร์ แล้วตามด้วยของแอสตร้าเซนเนก้า
รายงานข่าวระบุว่า เนื่องจากปริมาณวัคซีนที่ไม่ได้มีเกินความต้องการในเวลานี้ เจ้าหน้าที่ของอังกฤษแนะนำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปรอเข็มที่สองเป็นเวลา 8 สัปดาห์ และให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่านั้นรอเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ปัจจุบัน กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของชาวอังกฤษที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และราว 60 เปอร์เซ็นต์ ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว