ปลัดสธ. แจงปมดราม่า รพ.ไทยรักษาต่างด้าวจนขาดทุน ชี้ไม่ใช่ทุกเคส
ปลัดสธ.เผยอีกมุม หลังดราม่าเดือด “รพ.ไทยรักษาต่างด้าวจนขาดทุน” ชี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มจ่ายเอง สร้างรายได้เข้าโรงพยาบาล กรณีไม่ชำระค่ารักษามีอยู่บ้าง เผย รพ.แม่สอด มีรายรับมากกว่ารายจ่าย เคสที่เป็นข่าวเป็นเฉพาะเคส ไม่ใช่ทุกราย
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 67 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลทางโซเชียลประเด็นที่โรงพยาบาล (รพ.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้การดูแลผู้ป่วยชาวต่างประเทศ ที่ไม่มีสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย และบางส่วนไม่ได้รับค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากเมื่อรักษาเสร็จ ผู้ป่วยก็ออกจาก รพ. โดยไม่ได้ชำระเงิน ทำให้ รพ. ทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยต่างด้าวที่ไม่สามารถทวงชำระได้หลายพันล้านบาท ว่า สำหรับกรณีที่เป็นข่าวอยู่นั้น ตนได้รับรายงานมาจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ว่ากรณีดังกล่าวนั้นเป็นการทำคลอดให้หญิงตั้งครรภ์ ที่ชำระเงินค่ารักษาพยาบาลเอง ซึ่ง รพ. ก็ได้รับค่ารักษาพยาบาลส่วนนั้น แต่เด็กที่คลอดออกมานั้น มีอาการป่วย เพราะคลอดก่อนกำหนด ต้องเข้ารักษาในห้องไอซียู (ICU) โดยตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ระบุว่าเด็กที่เกิดในประเทศไทยจะต้องได้รับการดูแล และรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม รพ. ตามแนวชายแดน จะมีการรักษาชาวต่างชาติ 2 ส่วน คือ 1.ชำระเงินเอง ส่วนนี้ก็จะเป็นรายได้ของ รพ. นั้น ๆ และ 2.ผู้ที่ยากไร้ ซึ่งกลุ่มนี้เราก็ต้องให้การรักษาตามหลักมนุษยธรรม
“การรักษาดูแลผู้ป่วยต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างรายได้ให้ รพ. มากกว่า ซึ่งประเด็นที่มีผู้ป่วยรักษาแล้วไม่ได้ชำระค่ารักษานั้น ก็มีอยู่บ้าง แต่ทาง ผอ.รพ.แม่สอด รายงานมาว่าเฉลี่ยแล้วมีรายรับมากกว่ารายจ่าย ส่วนเคสที่เป็นข่าว ก็เป็นเคสเฉพาะ ไม่ได้เป็นทุกเคส เรื่องนี้ต้องดูภาพรวมมากกว่า แต่ถ้าจะมีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวต่างชาติเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนข้อมูลว่า รพ. ขาดทุนจากการรักษาชาวต่างชาตินั้น จริงๆ ก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น ซึ่งสัดส่วนยังคงเป็นได้รายรับมากกว่ารายจ่าย เพราะการรักษาส่วนใหญ่ผู้ป่วยมาจ่ายเงินเอง และทาง รพ. ก็คิดในอัตราค่าบริการชาวต่างชาติ โดยเมื่อนำมาเฉลี่ยกับกลุ่มผู้ป่วยที่ยากไร้ รพ. ก็ยังมีรายรับมากกว่ารายจ่าย
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการระบุถึง “นายหน้า” รับเงิน เพื่อพาคนมารักษาในไทย แต่ทาง รพ.ก็ไม่ได้รับค่ารักษาพยาบาล นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในอำนาจการกำกับดูแลโดย สธ.
ถามถึงข้อแนะนำว่าควรให้เก็บเงินก่อนรักษา ทำได้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องถามว่าเราจะเอาแบบนั้นจริงหรือไม่ การรักษาพยาบาล เราก็ไม่ได้ถามหาค่าเรื่องเงินก่อน เพราะต้องรักษาก่อนตามหลักมนุษยธรรม