รองปลัดสธ. ตอบปมความก้าวหน้าบุคลากร หลังโอนภารกิจยาเสพติดจาก ‘กรมการแพทย์’ ไป ‘กรมจิต’
รองปลัดสธ.ติดตามความคืบหน้าประชุมขับเคลื่อนโอนภารกิจสุขภาพจิตและยาเสพติดจาก “กรมการแพทย์” ไป “กรมสุขภาพจิต” เน้นประโยชน์บำบัดรักษาผู้ป่วยแบบครบวงจร ชูแอปพลิเคชั่น “ล้อมรักษ์” ให้ญาติมอนิเตอร์การรักษา ไร้กังวลความรุนแรงไม่ซ้ำรอยเคส รพ.กันทรลักษ์ ส่วนความก้าวหน้าบุคลากรเมื่อต้องโอนย้าย เน้นสอบถาม ทำความเข้าใจลดผลกระทบน้อยที่สุด
ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย ให้มีการตัดโอนภารกิจด้านยาเสพติดจากกรมการแพทย์ มาเป็นภารกิจของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานสุขภาพจิตและยาเสพติดแบบครบวงจร โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้อธิบดีกรมสุขภาพจิตปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ ในการกำกับดูแลสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี(สบยช.) และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่งในเรื่องการดำเนินงานเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและสารเสพติด ทั้งระบบบริการในโรงพยาบาลเครือข่ายหน่วยบริการตลอดจนถึงระบบชุมชนอย่างครบวงจร
เกิดคำถามถึงการมอบอำนาจดังกล่าวว่าจะส่งผลต่อการทำงานอย่างไร บุคลากรจากกรมสุขภาพจิตที่ต้องปฏิบัติงานบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติดฯ ทิศทางจะเป็นอย่างไรในอนาคต และจะก่อประโยชน์ภาพรวมต่อผู้ป่วยที่เข้าบำบัดรักษาอย่างไร..
ล่าสุด นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว Hfocus ถึงแผนการขับเคลื่อนงาน ว่า ขณะนี้มีการติดตามข้อมูล และรายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดและจิตเวช ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีการควบรวมการรักษา ทั้งกายและจิตใจไว้ด้วยกัน จากเดิมแยกการรักษาระหว่าง กาย กับ จิต แทนจะต้องส่งต่อจากรักษาทางกายที่หนึ่งและไปรักษาทางจิตใจอีกที่หนึ่ง เมื่อมีการรวมกัน ย่อมทำให้การบริการเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น ประโยชน์ก็จะเกิดแก่ประชาชนที่มารับบริการ
เมื่อถามว่าที่ผ่านมากรณี รพ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ทำให้ญาติกังวลว่าผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดจะได้รับผลกระทบ นพ.ศักดา กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เนื่องจากแนวทางการบำบัดรักษาไม่ได้มีความรุนแรง แต่กรณีที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อมูล ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการสธ. กำชับเรื่องนี้ให้ผู้บริหารดูแลให้ดี พร้อมให้ทบทวนการจัดการในการจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ซึ่งได้ดำเนินการอบรมในทุกเขตสุขภาพให้ครบถ้วน และขณะนี้มีแอปพลิเคชัน “ล้อมรักษ์” ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ให้ญาติได้ดูการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ เพื่อการันตีเสริมสร้างความมั่นใจอีกขั้น อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะมีการประเมินผลของการดำเนินการว่า เป็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ณ ปัจจุบัน หน่วยงานการดูแลบำบัดยาเสพติดของกรมการแพทย์ อย่าง สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และรพ.ธัญญารักษ์ในต่างจังหวัด 6 แห่ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมใด… นพ.ศักดากล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานดังกล่าวยังถือว่าสังกัดกรมการแพทย์ ยกเว้นในเรื่องการดำเนินงานเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและสารเสพติด ที่อธิบดีกรมการแพทย์มอบให้อธิบดีกรมสุภาพจิต ควบคุมกำกับ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดเป็นไปอย่างบูรณาการ
ส่วนการแบ่งส่วนราชการให้สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาแห่งชาติบรมราชชนนี และรพ.ธัญญารักษ์ ทั้ง 6 แห่ง คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และธัญญารักษ์ปัตตานี ทั้งหมดมาสังกัดกรมสุขภาพจิต ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการของทั้งสองกรมตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. เพื่อออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากปรับโครงสร้างของ สบยช. ไปยังกรมสุขภาพจิตแล้ว ความก้าวหน้าบุคลากรต้องนับหนึ่งใหม่ หรือต่อเนื่องได้..
นพ.ศักดา กล่าวว่า การบริหารงานบุคคลในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องดูในรายละเอียดในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งต้องมีการพูดคุย และทำความเข้าใจ ภายใต้กระทรวงเดียวกันความก้าวหน้าของบุคลากรก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน จึงไม่คิดว่าจะเป็นประเด็น
“สิ่งสำคัญต้องสอบถามบุคลากรว่า มีข้อกังวลใจอะไร อย่างไร เรื่องนี้ต้องใช้เวลาและการทำความเข้าใจ ผมเองจะติดตามในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อการถ่ายโอนให้เป็นไปตามระเบียบและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด” นพ.ศักดา กล่าว