สธ. ลงพื้นที่เฝ้าระวังโรคติดต่อ ด่านพรมแดน จ.เชียงราย ยังไม่พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ
ผู้ตรวจเขตสุขภาพที่ 1 พร้อมศูนย์วิชาการ เฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่ด่านพรมแดน จ.เชียงราย เข้มผู้ป่วยอุจจาระร่วง-อาหารเป็นพิษ จากผู้ข้ามพรมแดน ยังไม่พบผู้ต้องสงสัยการติดเชื้อโรคระบาด พร้อมสุ่มตรวจคุณภาพน้ำและอาหาร
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ร่วมกับผู้แทนกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ลงพื้นที่เฝ้าระวังการจัดการป้องกันควบคุมโรค และสุขาภิบาล เมื่อวันที่ 2-3 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่จุดผ่านแดนถาวรแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพรมแดนไทย-เมียนมา และจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ 4 อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพรมแดนไทย-ลาว พบว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสุขาภิบาลและการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ และสุ่มตรวจคุณภาพน้ำและอาหารพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทั้ง 2 แห่ง รายงานว่า ด่านพรมแดนถาวรแม่สาย-เชียงของมีผู้เดินทางกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน ได้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษจากผู้ข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่พบผู้ต้องสงสัยการติดเชื้อโรคระบาด และประเมินความเสี่ยงช่องทางเข้าออกพรมแดนระหว่างประเทศอยู่ในระดับเสี่ยงน้อย
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายได้รายงานว่า ยังไม่พบจำนวนผู้ป่วยอุจจาระร่วงเพิ่มขึ้นเกินค่ามัธยฐานในพื้นที่ แต่ได้เตรียมการด้านสาธารณสุขด้วยหลักการ 2P2R ทั้งการป้องกันและลดผลกระทบ (Prevention and mitigation) การเตรียมความพร้อม (Preparation) การตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Response) และการเตรียมฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ (Recovery) โดยโรงพยาบาลในพื้นที่ได้เตรียมการสำหรับรองรับผู้ป่วยหากมีการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากไว้แล้ว ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ การประปาส่วนภูมิภาค ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ด่านตรวจประมง และด่านกักกันสัตว์ เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการฯ เน้นย้ำให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ หรือ International Health Regulations (IHR 2005) โดยให้ปฏิบัติการตามมาตรการ WASH เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออย่างเข้มข้น ซึ่งประกอบด้วย
– WATER : การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ด้วยชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ (อ31) ทุกสัปดาห์ ให้มีระดับคลอรีนอิสระคงเหลือปลายท่ออยู่ระหว่าง 0.5 – 1.00 ppm ในช่วงที่มีการเฝ้าระวังการระบาดของโรค โดยผลการสุ่มตรวจอยู่ในระดับที่ได้มาตรฐาน
– SANITATION : การเฝ้าระวังสุขาภิบาลอาหารและน้ำในร้านอาหาร ตลาด โรงงานน้ำดื่ม โรงงานน้ำแข็ง และแหล่งชุมชนอย่างสม่ำเสมอด้วยชุดทดสอบเชื้อวิบริโอสปีชีส์ ภาคสนาม (อ15) ชุดทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (อ13) ซึ่วผลการสุ่มตรวจล่าสุดไม่พบการปนเปื้อนเชื้อ และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการสุขาภิบาลอย่างเข้มข้น
– HYGEINE : การสื่อสารสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนในการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ทั้งการล้างมือด้วยสบู่และน้ำก่อนหยิบจับอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน และใช้ช้อนกลางหากมีการรับประทานอาหารร่วมกัน
นอกจากนี้ ผู้ตรวจราชการฯ ยังได้ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการร้านอาหารเพื่อติดตามการจัดการสุขาภิบาลตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และได้มอบป้าย SAN ตามมาตรฐานกรมอนามัยให้กับร้านอาหารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านสุขาภิบาล เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขาภิบาลในสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ด้วย