สปสช. หนุนใช้ “ถุงทวารเทียมฝีมือคนไทย” ช่วยประหยัดงบฯ ลดการนำเข้า เพิ่มการเข้าถึงบริการ
สปสช. หนุนใช้ “นวัตกรรมถุงทวารเทียม” ฝีมือคนไทย เผยภาพรวมมีผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ใช้ถุงทวารเทียมแล้ว 10,864 ราย พบ รพ.อุดรธานี เบิกจ่ายถุงทวารเทียมสูงสุด 34,386 ชิ้น รองลงมา รพ.มหาราชนครราชสีมา 25,365 ชิ้น และ รพ.พุทธชินราช 19,571 ชิ้น ช่วยประหยัดงบประมาณ ลดการนำเข้า เพิ่มการเข้าถึงบริการถุงทวารเทียมให้กับผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 68 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่ให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย โดย สปสช. ได้ร่วมให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดย “นวัตกรรมถุงทวารเทียม” เป็นหนึ่งในรายการบัญชีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เพื่อดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่มีภาวะจำเป็นต้องใช้ถุงทวารเทียม โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่ต้องใช้ถุงทวารเทียมต่อเนื่องในการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับนวัตกรรมถุงทวารเทียมนี้ เป็นผลงานการวิจัยโดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีจุดเด่นคือการใช้ยางพาราไทยเป็นวัตถุดิบหลัก ที่นอกจากช่วยลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศและเพิ่มการเข้าถึงถุงทวารเทียมให้กับผู้ป่วยแล้ว แต่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยราคาอยู่ที่ประมาณชุดละ 200 บาท ขณะที่ถุงทวารเทียมนำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ชุดละ 400 บาท ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้ถุงทวารเทียมประมาณ 5-10 ชุดต่อเดือน เรียกว่าประหยัดงบประมาณได้มาก
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การดำเนินการสิทธิประโยชน์นวัตกรรมถุงทวารเทียมนี้ สปสช.ได้ร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ในการนำไปใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง โดยตั้งแต่ปี 2567 มีผู้ป่วยจำนวน 10,864 ราย ซึ่งได้เบิกจ่ายใช้นวัตกรรมถุงทวารเทียมแล้ว จำนวน 614,887 ชิ้น โดยมีโรงพยาบาล 10 อันดับแรก ที่ได้ร่วมใช้นวัตกรรมถุงทวารเทียมในการดูแลผู้ป่วย ดังนี้
1. รพ.อุดรธานี ดูแลผู้ป่วย 430 คน จำนวน 34,386 ชิ้น 2.รพ.มหาราชนครราชสีมา ดูแลผู้ป่วย 383 คน จำนวน 25,365 ชิ้น 3.รพ.พุทธชินราช ดูแลผู้ป่วย 307 คน เป็นจำนวน 19,571 ชิ้น 4. รพ.แพร่ ดูแลผู้ป่วย 218 คน เป็นจำนวน 18,741 ชิ้น 5.รพ.ขอนแก่น ดูแลผู้ป่วย 375 คน เป็นจำนวน 18,688 ชิ้น
6.รพ.สุราษฎร์ธานี ดูแลผู้ป่วย 247 คน เป็นจำนนวน 11,009 ชิ้น 7.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ดูแลผู้ป่วย 248 คน เป็นจำนวน 10,910 ชิ้น 8 รพ.ร้อยเอ็ด ดูแลผู้ป่วย 255 คน เป็นจำนวน 10,108 ชิ้น 9.รพ.พุทธโสธร ดูแลผู้ป่วย 189 คน เป็นจำนวน 9,916 ชิ้น และ 10.รพ.เจ้าพระยายมราช ดูแลผู้ป่วย 271 คน เป็นจำนวน 9,128 ชิ้น
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า แม้ว่าถุงทวารเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยได้มาก แต่ยอมรับว่ายังมีข้อเปรียบเทียบกับถุงทวารเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่าน สปสช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สถาบันสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ฯ พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งลำไส้และทวารหนัก ในลงพื้นที่โรงพยาบาลต่างๆ
อาทิ รพ.สุราษฎ์ธานี รพ.อุดรธานี รพ.หนองคาย เป็นต้น ในการติดตามผลการใช้นวัตกรรมถุงทวารเทียมนี้ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่ใช้จริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ป่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
“ขอขอบคุณทุกโรงพยาบาลที่ช่วยใช้นวัตกรรมไทยในการดูแลสุขภาพให้กับคนไทย นอกจากผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่ดีแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนวัตกรรมที่คิดค้นและวิจัยโดยคนไทยด้วยกัน ประหยัดงบประมาณในการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งยังเป็นการช่วยสร้างเศรษฐกิจ และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพของประเทศไทยด้วย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว