“ผ่าฟันคุด” กับอันตรายที่ควรต้องระวัง
“ฟันคุด” ปัญหากวนใจของใครหลายๆ คนที่ไม่อยากเจอแม้จะเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม ซึ่งฟันคุดคือฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ พบมากที่สุดคือฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง โดยเราจะทราบว่ามีฟันคุดเกิดขึ้นเมื่อพบว่าฟันซี่ใดโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เอกซเรย์ดูว่ามีฟันคุดอยู่ในเหงือกหรือไม่ อยู่ตรงไหนบ้าง
ทำไมต้องผ่าฟันคุด
เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะอาจมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ ทำให้เชื้อแบคทีเรียอาจมาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ และอาจทำให้เกิดการฟันผุเพราะซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้นทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่ อีกทั้งแรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา อาจทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไปได้
ขั้นตอนในการผ่าฟันคุด
ทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นก็จะเปิดเหงือกให้เห็นฟัน แล้วใช้เครื่องกรอตัดฟันออกมา ล้างทำความสะอาดและเย็บแผลปิด จากนั้นสามารถกลับบ้านได้ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
อันตรายจากผลข้างเคียงที่ควรระวังหลังผ่าฟันคุด
– หลังคายผ้าก๊อซแล้วยังมีเลือดไหลจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ
– มีไข้หรือมีการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
– หลังผ่าตัด 2-3 วันแล้วอาการปวดบวมยังไม่ทุเลา แต่กลับมีอาการเพิ่มมากยิ่งขึ้น
– มีอาการชาของริมฝีปากล่างนานผิดปกติทั้งที่หมดฤทธิ์ของยาชาแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ผลแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก ดังนั้นไม่ต้องกังวลจนไม่กล้าไปผ่าฟันคุดออก เพราะถ้าเก็บฟันคุดไว้กลับจะมีอันตรายมากกว่าอีก