“น้ำมันหอมระเหย” กับข้อควรระวังเมื่อต้องการจะใช้
น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่ามีวิธีคลายความเครียดด้วย “น้ำมันหอมระเหย” หรือที่เรียกกันว่า “อโรมาเธอราพี” โดยในปัจจุบันนี้ก็มีหลากหลายกลิ่นให้เลือกใช้ มีหลายคนลองแล้วมันช่วยผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดได้จริงๆ แต่หากใช้ผิดวิธีหรือแพ้อาจส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจซึ่งทำให้รู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน เกิดภูมิแพ้ โดยเฉพาะน้ำมันหอมระเหยที่ไม่ใช่ของแท้ที่อาจแพ้หนักถึงขั้นเป็นมะเร็งปอดเพราะอาจจะมีสารเคมีเจือปนอยู่
วิธีใช้น้ำมันหอมระเหย
เพราะน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดที่สกัดมามักมีความเข้มข้นไม่เท่ากัน ทางที่ดีให้นำน้ำมันหอมระเหยมาเจือจางด้วยน้ำมันพืชหรือน้ำผึ้ง (10 หยด ต่อน้ำมันพืช 30 มิลลิลิตร) ใช้ทาภายนอกเป็นน้ำมันสำหรับนวดตัว (massage oil) สูดดม ประคบ อบห้องทำให้บรรยากาศสดชื่น หรือผสมน้ำอาบ
ข้อควรระวัง
– ก่อนใช้ควรทดสอบว่าแพ้น้ำมันหอมระเหยชนิดนั้นหรือไม่ เพราะแต่ละบุคคลมีการตอบสนองต่อน้ำมันหอมระเหยแตกต่างกัน
– ห้ามใช้กับหญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้ป่วยความดันเลือดสูง ผู้ป่วยโรคลมชัก และก่อนอาบแดด
– การอบห้องด้วยน้ำมันหอมระเหย กลิ่นจะอยู่นาน 2-3 ชั่วโมง หากเปลี่ยนกลิ่นบ่อยๆ โดยไม่พัก จะทำให้ผู้นั่งอยู่ในห้องปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน
– ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยเกิน 3 ครั้งต่อวัน
– การผสมน้ำมันหอมระเหยในอ่างอาบน้ำ ให้ใช้ 6-8 หยด
– หากใช้น้ำมันหอมระเหยโดยไม่เจือจาง และได้รับน้ำมันหอมระเหยทางปากจะมีผลโดยตรง ต่อระบบย่อยอาหาร น้ำมันหอมระเหยจะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหาร ทำให้อวัยวะระคายเคือง กระตุ้นน้ำย่อย การหายใจ การไหลเวียนเลือด และการย่อยอาหาร เป็นการออกฤทธิ์แบบเดียวกับเครื่องเทศ
– เนื่องจากประสิทธิภาพของอโรมาเธอราพียังพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ หากบำบัดด้วยวิธีนี้ในระยะแรกแล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าจะเป็นโรครุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย