สปสช. หนุน อบจ.ใช้กองทุนฟื้นฟูฯ ดูแลสุขภาพชุมชนทั้งกายและใจครบวงจร
สปสช. หนุนบทบาท อบจ.ใช้กลไกกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ดูแลฟื้นฟูสุขภาพชุมชนทั้งกายและใจ แนะผู้สมัครนายกฯอบจ. เสนอนโยบายฟื้นฟูสุขภาพชุมชนในการเลือกตั้ง พร้อมตั้งเป้าค้นหาผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน 4.8 หมื่นคน
องค์การอนามัยโลก คาดประมาณว่าสัดส่วนของประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีรวมทั่วโลกจะเพิ่มเป็นสองเท่าในปี คศ. 2050 และประชากรดังกล่าวส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางกายด้วย ทำให้มีความต้องการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพมากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สัคมผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้การเตรียมความพร้อมงานฟื้นฟูจึงมีความจำเป็น
ขณะที่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับบุคคลในพื้นที่ได้อย่างครบวงจร ได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนฯไปแล้วกว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นการขยายการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บทบาทของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ สปสช.ทำร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดบริการร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ หรือการไปให้บริการฟื้นฟู หรือการปรับภูมิทัศน์ของบ้านต่างๆถือเป็นบทบาทที่สำคัญมากทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาได้รับการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ได้รับการดูแล
“บทบาทกองทุนฟื้นฟูระดับจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการดูแลฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งในปี 2567-2568 เราเพิ่มกลไกให้มีบทบาทมากขึ้น นอกจากลงไปแค่เรื่องของกายอุปกรณ์ การซ่อมอุปกรณ์ หรือการปรับภูมิทัศน์ เราให้บริการเรื่องของผู้สูงอายุ ผ้าอ้อม ในกองทุนระดับตำบล”
ส่วนเรื่องของการฟื้นฟูสุขภาพจิต นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดูแลเรื่องสุขภาพจิตแบบครบวงจร เพราะเชื่อว่ากลไกจังหวัด ซึ่งอยู่ในหมวดหนึ่งกองทุนสุขภาพฟื้นฟูระดับจังหวัดต้องลงไปค้นหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูด้วย โดยตั้งเป้าหมาย 4.8 หมื่นคน ที่จะเริ่มดำเนินการโดยกองทุนฟื้นฟูจังหวัด
ขณะที่ข้อมูลผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนขยายผลกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพ ครบวงจร ระบุว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีความสำคัญกับงานฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมาก ที่ผ่านมานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ความสนใจที่จะนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับงานกองทุนฟื้นฟูเพื่อให้ประชาชนได้เข้ารับบริการที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็พบว่าผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพก็ยังเข้าไม่ถึงการบริการฟื้นฟูจำนวนมากเช่นกัน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่ามีผู้ที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายกว่า 2.4 ล้านคนที่ต้องการการฟื้นฟูสมรรถภาพ
“งานฟื้นฟูสมรรถภาพที่มีประสิทธิภาพครบวงจร เป็นการฟื้นฟูฯ ที่เน้นให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูฯ กลับมามีศักยภาพสูงสุดตามเงื่อนไขของแต่ละบุคคล ซึ่งดาดหวังว่าในที่สุดผู้ที่ได้รับการฟื้นฟูฯ จะใช้ชีวิตได้ภายใต้ข้อจำกัดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี หลังจากดำเนินงานโครงการฯ ในจังหวัดนำร่อง ร่วมกับภาคีภาคส่วนต่างๆ
ที่สำคัญคือองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นแกนหลักของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พบว่า ภาพรวมการทำงานฟื้นฟูฯ 4 ประเด็นสำคัญ คือ การเพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงกายอุปกรณ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย การพัฒนาบริการการฟื้นฟูทางการแพย์ และการส่งเสริมความครอลคลุมการเข้าถึงสิทธิ์และสวัติการของรัฐ ยังมีประเด็นที่ต้องพัฒนาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
ในประเด็นที่ 1 คือ การจัดอุปกรณ์ ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ มีทั้ง องค์การบริการส่วนท้องถิ่น และ สปสช. แต่ยังต้องพัฒนาในเรื่องของคุณภาพที่ตรงกับความต้องการผู้ใช้และมีความซ้ำซ้อนในการให้บริการการแนะนำการใช้งาน
เรื่องที่ 2 คือ การปรับสภาพที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม เนื่องจากในมีต้นทุนในการดำเนินการ ทำให้มีผู้ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูเข้าไม่ถึงบริการในเรื่องนี้
เรื่องที่ 3 การบริการการฟื้นฟู ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องของบุคลากรด้านการฟื้นฟูไม่เพียงพอ แม้จะพยามอบรมนักบริบาลเข้ามาช่วยเสริมแต่ก็ยังขาดแคลน ในพื้นที่โครงการฯ มืการปรับบทบาทการทำงานให้ทีมสหวิชาชีพ เช่น แพทย์แผนไทย พยาบาล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเข้ามาสริมงานฟื้นฟูมากขึ้น
เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ที่ผ่านมาต้องให้ผู้ต้องการรับการบริการฟื้นฟูมาลงทะเบียน มีผู้รับรอง ทำให้ผู้ที่ต้องการฟื้นฟูเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการได้จำกัด จึงอาจจะต้องพัฒนาระบบในเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ที่ควรจะได้รับการฟื้นฟูเพิ่มมากขึ้น
ผู้จัดการโครงการฯ เห็นว่า งานฟื้นฟูยังต้องพัฒนามากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งในเรื่องของภาระงาน บุคลากร งบประมาณและเครืองมือ และไม่อยากให้มองงานฟื้นฟูเป็นเฉพาะเรื่องทางการแพทย์ แต่อยากให้งานฟื้นฟูเป็นเรื่องของชุมชนและสังคมเป็นพลังการสานพลังที่จะช่วยดูแลกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือชุมชนมาร่วมกันฟื้นฟูคนในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น