“โสม” กับประโยชน์ที่ทำให้ถูกยกเป็นราชาแห่งสมุนไพร
“โสม” เป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดมาจากแถบประเทศจีนและเกาหลี มีหลากหลายชนิด โสมถูกยกให้เป็นราชาแห่งสมุนไพร เนื่องจากมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างหลากหลายและถูกใช้เป็นยารักษาโรคมานานกว่า 1,000 ปี ทั้งยังได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน
ประโยชน์ของโสม
– บรรเทาอาการที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง
– บรรเทาอาการเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาท
– รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
– รักษาภาวะสูญเสียการได้ยินเฉียบพลัน
– รักษาเบาหวาน
– ช่วยลดความเครียด
– ชะลอความเสื่อมของเซลล์
– ช่วยควบคุมความดันโลหิต
– แก้อ่อนเพลีย
– เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
– ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด
– ทำให้สุขภาพดีขึ้น ปรับสมดุลให้กับร่างกาย
ข้อควรระวังในการใช้โสม
การรับประทานโสมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น นอนไม่หลับ หรือหากรับประทานโสมเป็นเวลานานเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไปหรือรับประทานในปริมาณมากอาจไม่ปลอดภัยและทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ วิงเวียน ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ท้องเสีย ผื่นคันตามผิวหนัง อารมณ์แปรปรวน เลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น รวมถึงมีข้อควรระวังในการรับประทานโสมโดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้
– ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร การรับประทานโสมอาจไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการรับประทานโสมในช่วงให้นมบุตรจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อมารดาหรือทารกหรือไม่
– ทารกและเด็กเล็ก ไม่ควรให้ทารกและเด็กเล็กรับประทานโสม เพราะค่อนข้างไม่ปลอดภัย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต รวมถึงยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยหากให้เด็กโตรับประทานโสม
– ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น เพราะการรับประทานโสมอาจส่งผลต่อระบบภูมิต้านทานร่างกาย และอาจทำให้อาการต่างๆ แย่ลง
– ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เพราะการรับประทานโสมอาจทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง
– ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ การรับประทานโสมอาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตได้เล็กน้อย ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือผู้ป่วยโรคหัวใจควรรับประทานโสมด้วยความระมัดระวัง
– ผู้ป่วยโรคเบาหวาน การรับประทานโสมร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ดังนั้นจึงควรรับประทานโสมด้วยความระมัดระวังและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
– ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ การรับประทานโสมในปริมาณมากอาจส่งผลให้นอนไม่หลับหรือนอนหลับยากขึ้น ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับควรรับประทานโสมด้วยความระมัดระวัง
– ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่ควรรับประทานโสม เพราะโสมอาจกระตุ้นให้ระบบภูมิต้านทานร่างกายทำงานมากขึ้น และแทรกแซงประสิทธิภาพและการทำงานของยาที่ได้รับหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
– ผู้ที่รับประทานยารักษาโรค เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ หากรับประทานโสมร่วมกับการใช้ยาดังต่อไปนี้
– ยารักษาเบาหวาน การรับประทานโสมร่วมกับยารักษาเบาหวานหรืออินซูลินอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป
– ยาที่เปลี่ยนแปลงเอนไซม์ที่ตับ เพราะอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของยาและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง
– ยารักษาอาการซึมเศร้า การรับประทานโสมร่วมกับยารักษาอาการซึมเศร้าอาจไปกระตุ้นร่างกายมากเกินไป และทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น วิตกกังวล กระวนกระวาย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เป็นต้น
– ยากดภูมิคุ้มกัน การรับประทานโสมอาจไปกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน และลดประสิทธิภาพและการทำงานของยา
– ยาต้านการแข็งตัวของเลือด การรับประทานโสมร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอาจทำให้เกิดแผลฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย