“โรคผื่นผิวหนังอักเสบ” พบได้บ่อย เกิดจากสัมผัสสารเคมี-สารก่อภูมิแพ้-การใช้ผลิตภัณฑ์
“โรคผื่นผิวหนังอักเสบ” พบได้บ่อย เกิดจากสัมผัสสารเคมี-สารก่อภูมิแพ้-การใช้ผลิตภัณฑ์ ย้ำการทดสอบผื่นแพ้สัมผัส (Patch Test) สำคัญต่อการวินิจฉัยแยกโรค เพื่อให้แพทย์รักษาได้อย่างตรงจุด ลดการกลับเป็นซ้ำของโรค
การทดสอบผื่นแพ้สัมผัส (Patch Test)
โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติสัมผัสสารเคมี สารก่อภูมิแพ้จากการประกอบอาชีพ การใช้ผลิตภัณฑ์กับผิวหนังหรือเส้นผม รวมถึงผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาและเครื่องสำอาง การทดสอบผื่นแพ้สัมผัส (Patch Test) จึงมีบทบาทสำคัญในการวินิจฉัยแยกโรคและระบุสาเหตุของผื่นดังกล่าว เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด ลดการกลับเป็นซ้ำของโรค และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 68 นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคผิวหนังจากการแพ้สัมผัสจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือที่มีความแม่นยำและได้มาตรฐานทางวิชาการ การทดสอบ Patch Test ถือเป็นแนวทางสำคัญที่สามารถช่วยยืนยันสาเหตุของผื่นผิวหนังอักเสบได้อย่างเฉพาะเจาะจง ช่วยลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นในระยะยาว และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้กรมการแพทย์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบริการเฉพาะทางที่มีคุณภาพและครอบคลุม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สถาบันโรคผิวหนังมีความพร้อมในการให้บริการทดสอบผื่นแพ้สัมผัสอย่างครอบคลุม โดยมีชุดสารทดสอบ (allergens) มากกว่า 360 รายการ ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ขั้นตอนการทดสอบประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ Day 0 (ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ปรึกษาแพทย์ เลือกสารที่ต้องการทดสอบการแพ้ และติดแผ่นทดสอบบนผิวหนัง),
Day 2 หรือ 48 ชั่วโมง (นำแผ่นทดสอบออกและอ่านผลการทดสอบครั้งที่ 1) และ Day 4 หรือ 96 ชั่วโมง (อ่านผลการทดสอบครั้งที่ 2 วินิจฉัยโรค ให้คำแนะนำ และวางแผนการรักษา) ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ การออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมาก รวมถึงไม่เกาบริเวณที่ทำการทดสอบตลอดระยะเวลาดังกล่าว เพื่อให้ผลการตรวจมีความแม่นยำ
พญ.นันท์นภัส โปวอนุสรณ์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การแปลผล Patch Test จะพิจารณาจากลักษณะปฏิกิริยาทางผิวหนัง โดยแบ่งระดับเป็น ปฏิกิริยาอ่อน (+), ปฏิกิริยาชัดเจน(++), และปฏิกิริยารุนแรง (+++) โดยพบผื่นแดง ตุ่มนูน หรือแผลตุ่มน้ำตามลำดับ สำหรับผลที่ไม่แน่ชัดจะระบุเป็น (?+) และหากเป็นปฏิกิริยาจากการระคายเคืองโดยไม่ใช่ภูมิแพ้ จะระบุเป็น IR (Irritant Reaction)
ซึ่งการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและแม่นยำจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และมีแนวทางในการดูแลรักษาที่ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น สถาบันโรคผิวหนังขอแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติผื่นผิวหนังเรื้อรังจากการสัมผัสสารเคมี หรือสงสัยว่าตนเองอาจแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวหนังหรือเส้นผม เข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาการทดสอบ Patch Test ซึ่งจะช่วยให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยยิ่งขึ้น