วิจัยเผย นั่งเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน เสี่ยงอายุสั้นได้!
ชีวิตประจำวันของเราในปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะต้องนั่งทำงาน นั่งเรียน นั่งอ่านหนังสือ นั่งดูทีวี หรือการนอนทำสิ่งต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่าร่างกายกำลังเสี่ยงอันตรายจาก “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เพราะการนั่งเฉยๆ ขยับร่างกายส่วนสะโพกและขาน้อยเกินไป
พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary behavior) คือ พฤติกรรมขณะตื่นที่ใช้พลังงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1.5 METs ไม่ว่าจะอยู่ในท่านั่ง นอน หรือเอนตัวแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมประหยัดพลังงานในรูปแบบหนึ่ง หากมีพฤติกรรมนี้มากๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างหนัก โดยพบว่าคนที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อวันมาก จะมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เบาหวาน อ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ ซึมเศร้า ปวดหลัง ไปจนถึงมะเร็ง และอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลง
วิธีป้องกันหากจำเป้นต้องนั่งนานๆ
1. ออกกำลัง งานวิจัยพบว่าการออกกำลังหนักปานกลาง 60-75 นาทีต่อวัน จะช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากการนั่ง 8 ชม.ต่อวันได้
2. ลุกเดิน 2 นาที ทุก 20 นาที พบว่าการลุกเดินเป็นระยะ ได้ผลดีกว่าการใช้โต๊ะทำงานแบบยืน แต่ยืนนิ่งไม่ขยับเป็นเวลานาน
3. ลองเปลี่ยนจากการนั่งคุยงาน เป็นเดินคุยงาน ถ้าสามารถทำได้
4. หางานอดิเรกที่ช่วยให้ได้ขยับร่างกายหลังเลิกงานหรือในวันหยุด เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นเกมเต้น ทำอาหาร
5. ดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ พบว่ายิ่งดัชนีมวลกายมาก ผลเสียที่เกิดจากพฤติกรรมเนือยนิ่งก็จะยิ่งมากขึ้นตามกัน