ชูต้นแบบความสำเร็จ! “รพ.พระนั่งเกล้า” ในการบำบัดยาปฏิชีวนะในน้ำเสีย ช่วยลดอัตราเสียชีวิต-ปชช.สุขภาพดี
ความสำเร็จของความร่วมมือในการบำบัดยาปฏิชีวนะในน้ำเสียรพ. ชูต้นแบบ “รพ.พระนั่งเกล้า” แห่งแรกในไทย ช่วยลดอัตราเสียชีวิต-ปชช.สุขภาพดี เผยขณะนี้ นำร่อง 2 รพ. ชี้เรื่องการบำบัดยาปฏิชีวนะกฎหมายยังไม่ออกมาตรฐานชัดเจน
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 68 เวลา 14.00-15.00 น. ณ ห้องประชุมศรีสุลาลัย อาคารศรีสุลาลัย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน ได้แก่ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เยี่ยมชมต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบำบัดยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นกลุ่มยาหลักของยาต้านจุลชีพในน้ำเสีย ณ ระบบบำบัดน้ำเสีย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดื้อยาต้านจุลชีพ ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามต่อสุขภาพโลก เนื่องจากปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพส่งผลกระทบที่รุนแรง นอกจากนี้ เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ รวมทั้งยีนดื้อยา สามารถถ่ายทอดและแพร่กระจายไปมาระหว่างคน สัตว์ อาหาร และสิ่งแวดล้อม
ตามที่ทราบกันดี การดื้อยาต้านจุลชีพตามแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 จะเน้นเฉพาะยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งยาปฏิชีวนะตกค้างในสิ่งแวดล้อมและการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกเพราะหากยาปฏิชีวนะตกค้างในสิ่งแวดล้อมสูง ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะสูงตามไปด้วย ทางกรมอนามัยจึงเห็นความสำคัญของการจัดการต้นทางคือ การลดการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะออกสู่สิ่งแวดล้อม จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เชื้อดื้อยาลดลง ซึ่งส่งผลต่อการติดเชื้อของคนลดลง อัตราการตายลดลง สุขภาพประชาชนดีขึ้น ลดค่ารักษาพยาบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น
กรมอนามัยเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ และเห็นความสำคัญของการลดการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะได้ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ ในการพัฒนาข้อเสนองานวิจัย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนทุนวิจัย จึงทำให้วันนี้เราได้เห็นต้นแบบเทคโนโลยีในการบำบัดยาปฏิชีวนะ และได้เทคนิคในการวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะ
ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้ และสร้างคุณูปการแก่สิ่งแวดล้อมการสาธารณสุข และสุขภาพ จากการสนับสนุนการวิจัยของสำนักงาน
การวิจัยแห่งชาติ การสนับสนุนทางวิชาการจากกรมควบคุมมลพิษการอนุเคราะห์สถานที่ในการวิจัยจากโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และการทำงานวิจัยอย่างดีเยี่ยมของภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมอนามัยเห็นประโยชน์ของผลงานวิจัยจากความร่วมมือนี้ ที่จะนำไปสู่การขยายผลเพื่อให้เกิดการจัดการยาปฏิชีวนะจากสถานพยาบาลได้อย่างกว้างขวางต่อไป
“กรมอนามัยจึงเห็นความสำคัญของการจัดการต้นทาง คือ การลดการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ จะทำให้เชื้อดื้อยาจุลชีพลดลง ซึ่งส่งผลต่อการติดเชื้อลดลง ลดอัตราการตาย ลดค่ารักษาพยาบาล ประชาชนมีสุขภาพดี ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น” พญ.อัมพร กล่าว
ดร. ชานัน ติรณะรัต ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “กลุ่มยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะมีหลายประเภทและแต่ละประเภทมีสารเคมีหลายชนิดเป็นองค์ประกอบ ระบบบำบัดทางชีวภาพสามารถบำบัดได้เพียงบางส่วน จึงปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม การวิจัยถึงวิธีการบำบัดยาปฏิชีวนะน้ำเสียจึงสำคัญโดยเฉพาะน้ำเสียจากโรงพยาบาล”
ศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ยอดสุดใจ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ เราได้คิดค้นเทคโนโลยีสำหรับน้ำเสียโรงพยาบาลที่สามารถบำบัดยาปฏิชีวนะได้มากกว่าร้อยละ 90 ดูแลง่าย และราคาไม่แพง นับเป็นนวัตกรรมที่มีความปลอดภัยสามารถขยายผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการได้เป็นอย่างดี”
นพ. สกล สุขพรหม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า “โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน และพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้นวัตกรรมต้นแบบการบำบัดยาปฏิชีวนะให้แก่สถานพยาบาลทั่วประเทศ”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้ติดตามการเคลื่อนไหวระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ประเด็นเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นประเด็นท้าทายเพราะเป็นวิกฤติร่วมของทุกประเทศทั่วโลก งานวิจัยล่าสุดเผยว่าในปี 2562 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพสูงถึง 4.95 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประมาณปีละ 1.27 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ที่สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กรอบการวิจัยและนวัตกรรมเชิงรุก มุ่งเน้นการสร้างกลไกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อนำสู่การกำหนดแผนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ตามความต้องการของประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ได้เห็นความสำคัญของการจัดการยาปฏิชีวนะเหลือใช้และจากการถ่ายจากมนุษย์ ปศุสัตว์ และการเกษตร จึงร่วมเป็นหนึ่งในความร่วมมือครั้งนี้
ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันของ กรมอนามัยกรมควบคุมมลพิษ โรงพยาบาลนั่งเกล้าและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านการแพทย์การสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ที่มีโอกาสขยายผลสู่เชิงพาณิชย์เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาได้ภายในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย เพื่อให้คนไทยมีอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี
ด้าน ผศ.ดร.พีรกานติ์ บรรเจิดกิจ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การบำบัดน้ำเสียในโรงพยาบาลเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกจากโรงพยาบาลประกอบด้วยสารเคมี ยา และเชื้อโรคที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยพบว่า ทุก 2 นาทีมีโอกาสที่จะเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา โดยในสถานการณ์ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตขึ้นเรื่อยๆ ณ วันนี้ ระบบการบำบัดยาปฏิชีวนะในน้ำเสียโรงพยาบาลพระนั่งเก้านั้น ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังขยายไปอีก 2 โรงพยาบาลคือ 1. โรงพยาบาลหนองหาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และ 2. โรงพยาบาลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด
“ตอนนี้การบำบัดน้ำเสียในโรงพยาบาลยังไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย เพราะเนื่องจากว่ากฎหมายไม่ได้ออกมาตรฐานน้ำทิ้งของยาปฏิชีวนะออกมา เพียงแต่ว่าทางกรมอนามัยและทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตระหนักว่าถ้าประเทศไทยไม่ทำในวันนี้จะตามทั่วโลกไม่ทัน”