“กําเดาไหล” กับวิธีบรรเทาเบื้องต้นที่ถูกต้อง
“กำเดาไหล” เป็นอาการที่มีเลือดไหลออกจากรูจมูกเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง เนื่องมาจากเส้นเลือดภายในโพรงจมูกแตก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการร้ายแรง วันนี้เราเลยนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเราเกิดจู่ๆ กำเดาไหลขึ้นมาฝาก
การห้ามเลือด
– นั่งอยู่กับที่นิ่งๆ เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบรูจมูก แล้วหายใจทางปากประมาณ 10 นาที หากผ่านไป 10 นาทีแล้วให้เลิกบีบจมูก หากเลือดกำเดายังไม่หยุดไหล ให้ทำตามขั้นตอนเดิมซ้ำอีกครั้ง
– หากมีเลือดที่ไหลลงในปากหรือลำคอ ให้คายเลือดออกมา อย่ากลืนเลือดลงไป รวมถึงต้องไม่นอนราบ และไม่เงยหน้าขึ้นในขณะที่เลือดกำเดาไหล เพราะอาจกลืนเลือดลงไปในกระเพาะแล้วทำให้เกิดการระคายเคืองที่อาจทำให้เกิดอาการป่วยอื่นๆ ตามมา เช่น การอาเจียน
– อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งวางไว้บริเวณสันจมูก (ดั้งจมูก)
– ไม่พ่นจมูก สั่งน้ำมูก หรือล้วงแคะจมูก เพราะจะทำให้อาการแย่ลง
– หากพยายามห้ามเลือดกำเดาด้วยตนเองด้วยวิธีต่างๆ แล้วไม่ได้ผลและเลือดกำเดายังคงไหลอยู่อย่างต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาต่อไป
การดูแลตนเองหลังเลือดหยุดไหล
– พยายามไม่พ่นจมูก สั่งน้ำมูก หรือจามเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังเลือดกำเดาหยุดไหล
– หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศแห้งหรือหนาวเย็น
การป้องกันการเกิดเลือดกำเดาไหล
– ไม่พ่นจมูก สั่งน้ำมูก หรือล้วงแคะจมูกแรงๆ และควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ
– หลีกเลี่ยงการเผชิญกับอากาศแห้งและหนาวเย็น หากต้องอยู่ในอากาศแห้งและหนาวเย็น ให้ใช้ยาทาปิโตรเลียม (Petroleum Jelly) ทา เพื่อไม่ให้ภายในโพรงจมูกแห้ง
– ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้จมูกแห้งและอาจทำให้เกิดอาการแพ้
– หากเลือดกำเดาไหลเกิดจากการรับประทานยา ให้ปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณและการใช้ยานั้นอย่างเหมาะสม เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านฮิสตามีน และยาแก้คัดจมูก
– หากเลือดกำเดาไหลเกิดจากปัจจัยทางการแพทย์ เช่น เป็นภูมิแพ้จมูก ป่วยไซนัสเรื้อรัง หรือป่วยด้วยโรคตับ ให้ปฏิบัติตามกระบวนการรักษาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
– ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นและกระทบกระเทือนต่อจมูก เช่น สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันศีรษะในขณะเล่นกีฬาหรือต้องทำกิจกรรมที่อาจได้รับการกระทบกระเทือน