ครม.อนุมัติวงเงินกว่า 4.2 พันล้าน ซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส เพื่อฉีดไขว้กับแอสตร้าฯ
วันที่ 7 ก.ย. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 4,254.36 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 12 ล้านโดส รองรับการฉีดวัคซีนแบบสูตรผสมระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง (ปอดอุดกั้น หอบหืด) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 35 น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม)
2. ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป
3. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ด่านควบคุมโรคตามชายแดน สถานกักกันโรค ทหาร ตำรวจ เจ้าที่เก็บขยะติดเชื้อ เป็นต้น
4. ประชาชนทั่วไปในประเทศไทย
ทั้งนี้ นายธนกร กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 12 ล้านโดสครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน เพราะเป็นวัคซีนที่ไม่ต้องสั่งซื้อล่วงหน้าเหมืนอวัคซีนอื่น ทำให้สามารถส่งมอบได้ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. หรือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งเป็นการรองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสมและเพิ่มความครอบคลุมของผู้ได้รับวัคซีนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มวัยแรงงาน 8 ล้านคน และกลุ่มแรงงานต่างด้าว 2 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อชะลอไม่ให้เกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายในวงกว้าง
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ระหว่างวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถร่นระยะเวลาการฉีดลงได้ และยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับสูงตามผลการวิจัย ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 รวมทั้งลดผลกระทบ/ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว โดยเห็นควรให้กรมควบคุมโรคพิจารณากำหนดเงื่อนไขของสัญญาให้มีความยืดหยุ่นในกรณีที่มีวัคซีนที่มีความสามารถต้านทานไวรัสกลายพันธุ์ได้มากขึ้น ให้บริษัทฯ ส่งมอบวัคซีนรุ่นใหม่ดังกล่าวทดแทนวัคซีนเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อแผนการจัดหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชนไทย
อย่างไรก็ตาม ครม.ยังมอบหมายให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถจัดหาเงินกู้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป
ขณะที่เมื่อตรวจสอบมติ ครม. ในวันนี้ พบว่า การอนุมัติดังกล่าวเป็นไปตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คณะกรรมการฯ) เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564