“นวด” กับประโยชน์ดีๆ ที่คุณต้องร้องว้าว!!
การ “นวด” ถือเป็นตัวเลือกอย่างหนึ่งที่ใช้ลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อทำให้เวลาปวดเมื่อยหลายคนมักจะเลือกการนวดบรรเทาเป็นหลัก ซึ่งวิธีการนวดนั้นก็มีหลากหลายทั้งการนวดแผนไทย นวดแผนจีน นวดอโรม่า แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากคลายปวดเมื่อยแล้วการนวดนั้นมีประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกด้วย
การนวดดีอย่างไร?
– ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปวดต้นคอ ปวดบ่า ปวดหลัง ปวดขา เนื่องมาจากการใช้งานหนักหรือผิดท่า
– ช่วยคลายอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ สลายพังผืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึด ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก
– ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม ในส่วนที่กล้ามเนื้อเกร็ง หรือเส้นเอ็นยึด เมื่อนวดแล้วจะคลายตัว จะทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก นำเอาออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายได้ทั่วถึง
– ปรับสมดุลร่างกาย การนวดช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
– รักษา/ป้องกันโรค เป็นการนวดแบบที่มีลักษณะแก้อาการ มีโรคบางโรคที่ต้องอาศัยการนวดอย่างเช่น ไมเกรน หรืออาการปวดศีรษะเรื้อรัง มีการนวดกดจุดบริเวณศีรษะได้ รวมถึงโรคเครียด นอนไม่หลับ หรือการนวดเพื่อฟื้นฟูโรคอัมพฤกษ์ โรคข้อเสื่อม และบรรเทาผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง
– คลายเครียด เนื่องจากการนวดจะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลาย ยิ่งโดยเฉพาะการนวดน้ำมันหรือนวดอโรมา ที่สกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพร กลิ่นหอมมีสรรพคุณในการบำบัดความเครียด สุขภาพ จิตดี ผ่อนคลายสบายอารมณ์ มีการศึกษาที่พบว่า การนวดช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอลได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มสารสื่อประสาทในสมอง มีผลให้อาการซึมเศร้าลดลง
– เพื่อความสวยงาม เพราะการนวดทำให้เลือดลมไหลเวียนดี ผิวพรรณจึงเปล่งปลั่ง หรือการนวดแบบสปาที่มีการขัดตัวด้วยสมุนไพร และการนวดอโรมา ความร้อนของน้ำมันที่เกิดจากการนวดจะซึมซาบเข้าสู่ผิวหนัง
– ช่วยขับของเสีย ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำเหลือง เพื่อไม่ให้มีการสะสมของเสียไว้ในร่างกาย สุขภาพก็ดีขึ้น
– เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ / กล้ามเนื้อ ปรับสมดุลของร่างกาย
ข้อห้าม และสิ่งที่ควรระวังจากการนวด
– ห้ามนวดบริเวณที่เป็นมะเร็ง
– ห้ามนวดบริเวณที่บาดเจ็บหรืออักเสบเฉียบพลัน บวม แดง ร้อน
– ห้ามนวดผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นโรคเลือดต่าง ๆ มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างรุนแรง
– ห้ามนวดคนที่มีภาวะกระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ที่ยังไม่หายดี หรือตำแหน่งที่มีการผ่าตัดกระดูกและยังไม่ประสาน
– ห้ามนวดคนโรคติดเชื้อทางผิวหนังทุกชนิด
– สตรีมีครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของทารกและตัวคุณแม่เอง
– ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง
– ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
– ผู้ที่ใส่อวัยวะเทียม