คร. เปิดรายละเอียด 5 มาตรการสู้ฝุ่น PM 2.5 ย้ำ! หน่วยบริการต้องคัดกรองโรค “6 แผนก”
กองกฎหมาย กรมควบคุมโรค เผยรายละเอียด 5 มาตรการจากที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคฯ จากฝุ่น PM2.5 เช่น ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ส่วนอื่นๆและเอกชนพิจารณา Work From Home ย้ำ!หน่วยบริการ 6 แผนก คัดกรองโรคจากฝุ่นจิ๋ว และลงรหัสโรค (ICD-10)ที่เกี่ยวข้องฝุ่น ฯลฯ ขณะที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด แจ้งเตือนปชช.เมื่อเข้าพื้นที่ฝุ่นเกิน 75 มคก./ลบ.ม.
จากกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เผยหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2568 ช่วงเช้าวันที่ 4 ก.พ. 68 โดยเพิ่ม 5 มาตรการป้องกันควบคุมโรคจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่นPM2.5 ตามที่มีจังหวัดร้องขอเข้ามานั้น
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ กรณีฝุ่น PM 2.5 น.ส.อังคณา บริสุทธิ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมควบคุมโรค เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการประกาศพื้นที่เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค จากฝุ่น PM 2.5 ว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 มีเครื่องมือหลายอย่างที่ใช้แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ จึงมีการนำกฎหมายมาใช้ โดยมีการประกาศชื่อและอาการสำคัญของโรคที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละออง สิ่งที่เราได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การกำหนดเขตพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรค ซึ่งคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พิจารณาเพื่อเสนอพื้นที่เฝ้าระวังต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบการกำหนดเขตพื้นที่ฯ แล้ว และมอบหมายให้ทำมาตรการเพิ่มเติม เพื่อใช้ดำเนินการในเขตพื้นที่ดังกล่าว
รายละเอียดมาตรการเขตพื้นที่คุมฝุ่น 2 ระดับ
น.ส.อังคณา กล่าวว่า การประชุมของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ (ENVOcc) ได้กำหนดมาตรการที่จะใช้ในการกำหนดเขตพื้นที่ฯ ออกมาเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังและการป้องกันโรค พิจารณาจากค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกิน 37.5 แต่ไม่เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ใช้มาตรการสนับสนุนหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และเตรียมพื้นที่ห้องปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง ระดับที่ 2 เขตพื้นที่ที่ต้องมีการควบคุมโรค ซึ่งมีค่าฝุ่นเกิน 75 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป จะมี 5 มาตรการ ได้แก่ 2 มาตรการที่ทำในเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังฯ ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง
และเพิ่มมาตรการอีก 3 คือ 1.ให้หน่วยงานราชการพิจารณาปรับรูปแบบการทำงานจากบ้าน (Work from home) ส่วนภาคเอกชน สามารถปรับรูปแบบได้ตามสมควร 2.การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น เช่น การเผาในที่โล่งที่ต้องอาศัยกลไกกฎหมายอื่น และ 3.ให้คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ ระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ให้คำแนะนำมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ประกาศเขตพื้นที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคจากการฝุ่น ซึ่งสามารถกำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะพื้นที่นั้นได้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
รายละเอียด 5 มาตรการตาม ครม.เห็นชอบ
น.ส.อังคณา กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ วันนี้ (4ก.พ.) มีมติเพิ่ม 5 มาตรการจากที่ ครม.ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม ได้แก่
1.ลดการสัมผัสฝุ่น โดยการเปิดศูนย์อพยพชั่วคราวระดับจังหวัด ดังนี้
1.1 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สนับสนุนหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง
1.2 สธ.จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานี
1.3 ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นศูนย์รองรับการอพยพประชาชน (shelter) สำหรับกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตรียงเข้าพักคอยจนกว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อยู่ในภาวะปกติ
1.4 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ และเอกชนพิจารณา Work From Home
1.5 งดกิจกรรมกลางแจ้ง
2.การสื่อสารความเสี่ยง ดังนี้
2.1 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด แจ้งเตือนประชาชนเมื่อเข้าพื้นที่ฝุ่นเกิน 75 มกค./ลบ.ม.ผ่านช่องทางต่างๆ
2.2 ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านสื่อสารความเสี่ยงผ่านเสียงตามสายทุกวัน
2.3 อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำกิจกรรมเคาะประตูบ้านสื่อสารประชาชน
2.4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแจ้งเตือนผู้ป่วยโรคที่อาจมีอาการกำเริบจากฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ
3.การเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุก
3.1 จนท.สาธารณสุข หรือ อสม. สุ่มเลือกพื้นที่คัดกรองสุขภาพผ่านระบบออนไลน์และเก็บพิกัดบ้านของผู้ได้รับการคัดกรอง
3.2 จนท.สาธารณสุข หรืออสม. นำพิกัดจากผู้ที่เข้ารับบริการจากคลินิกมลพิษออนไลน์ ไปดำเนินการคัดกรองสุขภาพประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคหรืออาการจากฝุ่น ด้วยแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์
4.การเฝ้าระวังเชิงรับ
4.1 หน่วยบริการสุขภาพ คัดกรองผู้ป่วยในโรงพยาบาลตามแผนกต่างๆ ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยฉุกเฉิน แผนกหูคอจมูก แผนกตา แผนกอายุรกรรม และแผนกกุมารเวชกรรม
4.2 หน่วยบริการสุขภาพ ลงรหัสโรค (ICD-10) ร่วมกับ Z58.1 ในระบบ HDC/DDS
5.การแจ้ง รายงานและสอบสวนโรค
5.1 ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล ในกรณีพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคจากฝุ่น PM2.5 แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 30(2)
5.2 สอบสวนโรคเป็นกลุ่มก้อน โดยหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 32 และมาตรา 33
5.3 เจ้าบ้าน หรือผู้ควบคุมดูแลบ้าน ผู้ควบคุมดูแลสถานศึกษา ผู้ควบคุมดูแลสถานที่ใดให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีพบผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคจากฝุ่น PM2.5
คร.ออกหนังสือแจ้งผู้ว่าฯ ถึงแนวทางควบคุมโรคฯ ฝุ่น PM2.5
น.ส.อังคณา กล่าวว่า กรมควบคุมโรคจะดำเนินการต่อไป คือ 1.ออกหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดและกทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ ระดับจังหวัด เรื่องแนวทางการใช้มาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ เพื่อพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และ 2.สนับสนุน สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ในระดับต่างๆ