นายกสมาคมโรคไตฯ หนุนสปสช. ปรับเกณฑ์ “บำบัดทดแทนไต” หลังพบผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 30%
นายกสมาคมโรคไตฯ ย้ำหลักการบำบัดทดแทนไต ต้องเลือกให้ “เหมาะสมตามสภาวะของผู้ป่วย” หนุน สปสช. ปรับหลักเกณฑ์การให้บริการ หลังมีรายงานพบผู้ป่วยฟอกเลือดมีอัตราเสียชีวิตเพิ่ม โดยเฉพาะผู้ป่วยรายใหม่สูงถึงร้อยละ 30 ภายในระยะเวลา 90 วัน พร้อมแนะต้องเน้นสื่อสารประชาชน ปรับพฤติกรรมบริโภค ช่วยลดผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ รายใหม่ในอนาคต
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2568 นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิประโยชน์การบำบัดทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ได้ช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่อดีตส่วนใหญ่ที่ต้องล้มละลายหรือเสียชีวิตลง ได้เข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
โดยเฉพาะการบำบัดทดแทนไตที่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระหนักมากและผู้ป่วยยังต้องรับการบำบัดรักษาไปตลอดทั้งชีวิต ซึ่งในระยะแรกของการขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์นี้ กำหนดให้การล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก เนื่องด้วยข้อจำกัดของหน่วยบริการและบุคลกรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล
ต่อมาได้มีการปรับแนวทางที่เปิดให้ผู้ป่วยรายใหม่สามารถเลือกทำการบำบัดทดแทนได้ โดยให้ผู้ป่วยตัดสินใจร่วมกับแพทย์ผู้ให้การรักษา ทำให้มีผู้ป่วยที่เลือกรับการบำบัดด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากผู้ป่วยมองว่ามีความสะดวกมากกว่า ผู้ป่วยหรือญาติไม่ต้องทำการล้างไตเอง ให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ดูแลให รวมถึงยังมีข้อกังวลเรื่องการติดเชื้อด้วย
อย่างไรก็ดีจากการทบทวนข้อมูลภายหลังจากที่ได้ปรับแนวทางการให้บริการ ข้อมูลที่พบมาตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ คือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวร่วมด้วยที่เลือกรับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จะมีอัตราเสียชีวิตที่สูงขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 โดยที่ส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 90 วันหลังได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งอาจมาจากการเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยเอง ต่างจากการล้างไตทางช่องท้องที่แทบจะไม่เจอการติดเชื้อ หรือมีปัญหาติดเชื้อที่ต่ำมากหลังจากบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์แล้ว
“สาเหตุที่การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เพราะยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะเป็นการที่นำเลือดออกจากร่างกายเพื่อทำการฟอกผ่านตัวกรองของเสียและเครื่องไตเทียม และนำเลือดที่ผ่านการกรองแล้วกลับสู่ร่างกาย โดยต้องมีใส่สายสวนเข้าทางเส้นเลือดหรือผ่าตัดทำเส้นเลือดเพื่อฟอกไต กระบวนการเหล่านี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ” นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าว
นอกจากนี้การนำเลือดออกมานอกร่างกายมีผลกระทบต่อโรคร่วมอื่นของผู้ป่วยได้ ทำให้อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลยังพบว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่รับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมยังส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นมากด้วย เป็นงบประมาณที่ใช้เพิ่มเติมกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นพ.วุฒิเดช กล่าวต่อว่า ขณะที่การล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยจะต้องทำการล้างไตด้วยตนเองหรือให้ญาติหรือผู้ดูแลที่บ้านช่วย โดยมีบริการจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านผู้ป่วยที่ช่วยอำนวยความสะดวก แต่ผู้ป่วยจะต้องดูแลตัวเองอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องความสะอาดและทำอย่างถูกต้องตามวิธีที่แพทย์และพยาบาลให้คำแนะนำ ซึ่งการล้างไตทางช่องท้องด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน ยังทำให้ผู้ป่วยมีของเสียที่คั่งในร่างกายลดลงรวมถึงน้ำส่วนเกิน
นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เป็นค่าเดินทาง ประกอบกับปัจจุบันมีทางเลือกการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (automated peritoneal dialysis; APD) ที่ช่วยเพิ่มความสะดวก และทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตช่วงกลางวันตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ปรากฏข้างต้นนี้โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่รับบริการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ สปสช. ปรับนโยบาย โดยให้ผู้ป่วยเลือกการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก แต่ยังเน้นการเลือกวิธีบำบัดที่เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยด้วย ซึ่งทางสมาคมฯ เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเป็นผลดีต่อชีวิตผู้ป่วยเองและระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
แนวทางนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ทุกคนจะต้องล้างไตทางช่องท้องเท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยด้านสุขภาพในด้านต่างๆ ของผู้ป่วยมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น หากเป็นผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดหน้าท้อง หรือผ่าตัดลำไส้ หรือเยื่อบุผนังช่องท้องมีปัญหา ก็ไม่สามารถบำบัดโดยการล้างไตทางช่องท้องได้ สามารถใช้วิธีบำบัดด้วยการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมแทน นอกจากนี้ที่ต้องเน้นย้ำมากๆ คือ การให้คำแนะนำของแพทย์และพยาบาลโรคไตที่หน่วยบริการจะต้องไม่มีอคติ แต่ให้ข้อมูลที่ทางเลือกเหมาะสมให้กับผู้ป่วยมากที่สุด
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. ประชาสัมพันธ์และร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับผู้ป่วยต่อการล้างไตทางช่องท้อง ที่มีข้อดีอย่างไร ทั้งแบบล้างไตทางช่องท้องด้วยตัวเอง และแบบการใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ รวมไปถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การบริโภคต่างๆ โดยเฉพาะอาหาร ยาสมุนไพร ยาบำรุงที่ไม่มีผลดีต่อร่างกาย แต่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไต เพื่อลดผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังรายใหม่ที่จะเข้าสู่การรักษาในอนาคตต่อไป นพ.วุฒิเดช กล่าวในตอนท้าย