หมอจุฬา เตือนบีบนวด กดผิดจุด เสี่ยงชีวิต!
หมอจุฬาฯ เตือน บีบบวด กดผิดจุด เสี่ยงชีวิต! เสริมความรู้หลัง “หมอประชา” เตือนเคสภรรยาบีดนวดต้นคอ กระทบเนื้อสมองบางส่วนตาย
จากกรณี แพทย์จากเพจ “หมอประชา ผ่าสมอง” หรือ นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมประสาทได้โพสต์คลิปวีดีโอ ยกเคสอุทาหรณ์ของผู้ป่วยเพศชาย อายุ 54 ปี รู้สึกปวดเมื่อยต้นคอ หลังกินข้าวเสร็จ ให้ภรรยาช่วยบีบนวดบริเวณต้นคอ แต่เมื่อนวดเสร็จรู้สึกเคล็ดมากกว่าเดิม จึงเข้านอน ปรากฎว่าตื่นขึ้นมาตอนเช้า มีอาการอ่อนแรงแขนขาข้างขวา ไม่พูด ญาติให้ประวัติว่าผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัว นำส่งโรงพยาบาลประจำอำเภอ ผู้ป่วยได้รับการรีเฟอร์ ส่งต่อมาถึงหมอประชา จนพบว่า เนื้อสมองบางส่วนตาย สีดำในภาพ CT แสดงว่าเกิน 8 ชั่วโมง
ปกติคนเรามีเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง 4 เส้น คือ หน้าขวา หน้าซ้าย หลังขวา และหลังซ้าย แต่คนไข้รายนี้ เส้นเลือดหายไปเหลือ 3 เส้น เคสนี้เกิดจากเส้นเลือดที่คอปริแตก แล้วลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดของตัวเอง เนื่องจากคนไข้เส้นเลือดสมองตันในเวลากลางคืน เลยเวลาที่จะทำอะไรได้ จึงต้องขยายกะโหลกเพื่อเพิ่มโอกาสรอด ผ่าตัดเปิดกะโหลกเพื่อลดแรงดันในสมอง
“ย้ำเตือนการกดคลึงหรือนวดบริเวณด้านหน้าของลำคอ ทำให้หลอดเลือดปริแตก แล้วเซาะเข้าไปในผนังของตัวเอง กลายเป็นลิ่มเลือดอุดตัน ดังนั้น การจะนวด ต้องมีความรู้ด้านกายวิภาค ผู้ที่จะให้บริการนวดแผนไทยต้องเรียน เนื่องจากเส้นเลือดบริเวณลำคอด้านหน้าและท้ายทอย ห้ามบีบหรือกดแรง ๆ จะทำให้พิการหรือสโตรกจากการนวดได้”
ล่าสุดวันที่ 7 พ.ค. 68 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เผยแพร่ข้อมูล และภาพอินโฟกราฟิกผ่านเว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เตือนเรื่อง “บีบบวด กดผิดจุด ถึงเสี่ยงชีวิต!” โดยอ้างอิงข้อมูลจาก นพ.วิทย์ โคธีรานุรักษ์ หน่วยกระดูกสันหลัง ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ ระบุว่า
การนวดเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกาย แต่รู้หรือไม่ ถ้านวดกดผิดจุดหรือนวดในผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาสุขภาพก่อนหน้า อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
รู้ไว้! ใครมีโอกาสเสี่ยงจากการนวด
1. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อ เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน, กระดูกพรุน, ข้อต่อคอหลวม กระดูกสันหลังติดเชื้อ เป็นต้น
2. ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการกดทับของระบบเส้นประสาท เช่น ภาวะกดทับรากประสาทส่วนคอ หรือภาวะกดทับไขสันหลัง
3. ผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดคอตีบ, ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดหรือสมอง เป็นต้น
หากไปนวดแล้วมีอาการเหล่านี้ พบแพทย์ด่วน สัญญาณเตือนที่ต้องรีบพบแพทย์
1. ปวดคอหรือหลังรุนแรง
2. มีอาการชาหรืออ่อนแรงแขนขา แขน – ขาไม่มีแรง
3. หน้าเบี้ยว ปวดศีรษะ เวียนหัว อาเจียน หรือหน้าบิดเบี้ยว
4. ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
นวดอย่างไรให้ปลอดภัย?
1. เลือกรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ได้รับการรับรอง
2. แจ้งประวัติสุขภาพก่อนทุกครั้ง
3. หลีกเลี่ยงการนวดรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณคอ
4. ปรึกษาแพทย์ก่อนไปนวด หากมีโรคประจำตัวหรืออยู่ในภาวะเสี่ยง
5. สังเกตอาการผิดปกติหลังนวด
หากไม่แน่ใจในสุขภาพของตนเองว่าพร้อมนวดหรือไม่ ควรสังเกตอาการและปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อให้การนวดเป็นการบำบัดที่ปลอดภัยและได้ประโยชน์ที่สุด
ข้อมูลโดย : อ.นพ.วิทย์ โคธีรานุรักษ์
หน่วยกระดูกสันหลัง ฝ่ายออร์โธปิดิกส์
ข้อมูล ณ วันที่ : 7 พฤษภาคม 2568
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์รพ.จุฬาลงกรณ์
https://kcmh.chulalongkornhospital.go.th/line/wrong-massage-spot-real-danger/