กรมแพทย์แผนไทยฯ แนะ “ชุดสังฆทานยาสมุนไพร” บรรเทา 5 อาการ
กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ “ชุดสังฆทานยาสมุนไพร” บรรเทา 5 อาการที่พบบ่อยในพระสงฆ์ เนื่องในวันวิสาขบูชา
วันที่ 10 พ.ค. นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในวันพุทธศาสนา สำหรับปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 ประชาชนส่วนใหญ่จะทำบุญใส่บาตร ถวายสังฆทาน ปฏิบัติธรรม ฟังธรรมเทศนา และเวียนเทียนที่วัด กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนที่จะทำบุญ ร่วมถึงถวายสังฆทาน ในวันดังกล่าว ขอแนะนำให้ประชาชนเลือกจัดชุดสังฆทานยาสมุนไพรที่เหมาะสมกับอาการที่พบบ่อย ได้แก่ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ กลุ่มอาการไข้หวัด กลุ่มอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ กลุ่มอาการท้องเสีย (ไม่ติดเชื้อ) และ กลุ่มอาการทางผิวหนังและแผล
ดร.รัชนี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า สำหรับยาสมุนไพร ที่ใช้รักษา ใน 5 กลุ่มอาการที่พบบ่อย ได้แก่
1. กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ ได้แก่ ครีมไพล สรรพคุณ บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดยอก ยาเถาวัลย์เปรียง สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ
2. กลุ่มอาการไข้หวัด ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ บรรเทาอาการหวัด เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ยาเขียวหอม สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ
3. กลุ่มอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้แก่ ยาขมิ้นชัน สรรพคุณ บรรเทาอาการแน่นจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาธาตุอบเชย สรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม
4. กลุ่มอาการท้องเสีย (ไม่ติดเชื้อ) ได้แก่ ยากล้วย ยาเหลืองปิดสมุทร สรรพคุณ บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน
5. กลุ่มอาการทางผิวหนัง และแผล ได้แก่ ยาโลชันพญายอ บรรเทาอาการผดผื่นคัน ลมพิษ ตุ่มคัน เป็นต้น ยาว่านหางจระเข้ สรรพคุณ รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ยาสมุนไพรดังกล่าว เป็นยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ของกระทรวงสาธารณสุข และ ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยพื้นฐานได้ดี หรือใช้ในยามฉุกเฉินเมื่อมีอาการผิดปกติก่อนไปพบแพทย์ และที่สำคัญ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และควรสังเกตวันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุและวิธีการใช้ยาอย่างเคร่งครัด ควรเก็บรักษายาที่ถูกต้อง รวมถึงควรสังเกตมาตรฐานการผลิตที่ดูได้จาก GMP และเลขทะเบียนยา จึงมั่นใจว่า ยามีความปลอดภัย
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย หรือ การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678