ห่วง! ปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบต่อสุขภาพสูง ภัยพิบัติ 51.8% มลพิษอากาศ 46% การจัดการขยะ 45.1%
ห่วง! ปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบต่อสุขภาพสูง ภัยพิบัติ 51.8% มลพิษอากาศ 46% การจัดการขยะ 45.1% สสส. – GSEI สานพลังภาคีเครือข่าย เปิดตัวโครงการ “PES” จัดการสิ่งแวดล้อม จ่ายค่าตอบแทนบริการของระบบนิเวศ ดึงชุมชนเป็นศูนย์กลาง นำร่อง 5 พื้นที่ต้นแบบ
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 พ.ค 68 ที่ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสาธารณะ PES Forum 2025 ความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศที่ให้ประโยชน์แก่ทุกคน เพื่อผลักดันแนวทางใหม่ในการสร้างสุขภาวะที่ดีจากทรัพยากรธรรมชาติ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีหลากหลายประเด็น จากผลสำรวจอนามัยโพล ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 – 29 มิ.ย. 2566 พบว่าประเด็นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหา คือ ภัยพิบัติ 51.8% มลพิษทางอากาศ 46% และการจัดการขยะไม่ดี 45.1% ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย สสส. มีเป้าหมายการทำงานในระยะ 10 ปี พ.ศ. 2564-2573 เพื่อจัดการกับปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพคนไทย ไม่เพียงแค่รับมือกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น แต่รวมถึงการทำให้ชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือได้รับผลประโยชน์ที่เหมาะสมตามมูลค่าของการให้บริการจากระบบนิเวศ
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการนำกลไกการจ่ายค่าตอบแทนบริการของระบบนิเวศ หรือ Payment for Ecosystem Services (PES) มาใช้ เป็นแนวทางที่จูงใจให้เกิดการดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดย สสส. สนับสนุนให้มีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของระบบนิเวศอย่างเป็นระบบ พร้อมผลักดันให้เกิดการลงทุนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับผู้ที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่ง นอกจากจะช่วยลดปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสุขภาวะที่ดีของประชาชนในระยะยาว
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) กล่าวว่า กลไกการดำเนินงานของโครงการ PES คือ การให้ผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ โดยกำหนดเงื่อนไขร่วมกัน ผู้ที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติจะได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม โดยผลสำเร็จของโครงการ PES คือ การนำกลไกดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ใน 5 พื้นที่ต้นแบบ ได้แก่ 1.บ้านแม่สาน้อย จังหวัดเชียงใหม่ 2.บ้านแม่ยางส้าน จังหวัดเชียงใหม่ 3.ป่าชุมชนบ้านมวกเหล็กในและบ้านคลองระบัง จังหวัดสระบุรี 4.บ้านทะเลนอก จังหวัดสงขลา 5.บ้านชายคลองปากประ จังหวัดพัทลุง ชุมชนเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ และมีส่วนร่วมในการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่กระทบต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การขยายผลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อื่นๆต่อไป