บอร์ดแพทย์ ประกันสังคม แจงสิทธิ์รักษา “รากฟันเทียม” มีเงื่อนไขต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากไม่ได้
“หมอสุรเดช” แจงสิทธิ์รักษารากฟันเทียมผู้ประกันตน ให้ได้เฉพาะกรณีไม่สามารถใส่ฟันเทียมทั้งปากได้ ส่วนตรวจสุขภาพช่องปาก หารือร่วมทันตแพทยสภาแล้ว กำหนดอัตราจ่ายอยู่ที่ครั้งละ 100 บาท
ตามที่ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ประธานกรรมการคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม เปิดเผย มติคณะกรรมการการแพทย์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าได้อนุมัติค่าผ่าฟันคุด 1,500-2,500 บาท ค่าตรวจสุขภาพช่องปาก และเพิ่มค่าทันตกรรมปีละ 900 บาท โดยปรับเป็นการจ่ายตามจริงเมื่อเข้ารับการรักษาในรพ.รัฐ ตามเรตกระทรวงสาธารณสุข ส่วนสถานพยาบาลเอกชน ยังจ่าย 900 บาท ตามเดิม แล้วนั้น ปรากฏว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า ได้รับแจ้งจากนพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร หนึ่งในบอร์ดการแพทย์ ว่า มีค่า รากฟันเทียม จำนวน 17,500 บาท ด้วย
ล่าสุด เวลา 15.30 น. วันที่ 15 ก.ค. นพ.สุรเดช ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสิทธิการรักษารากฟันเทียมว่า ที่ประชุมมีการอนุมัติให้สิทธิ์นี้จริง แต่มีเงื่อนไขว่า จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปาก แต่ไม่สามารถใส่ได้ จึงต้องไปใส่รากฟันเทียมเพื่อให้การสามารถใส่ฟันเทียมได้ ไม่ใช้เป็นการให้สิทธิใส่รากฟันเทียมเป็นการทั่วไป ส่วนถ้าเป็นการทำรากฟันเทียมซี่เดียว หรือ 2 ซี่แบบนี้เรายังไม่ได้ให้สิทธิ์
“สิทธิ์มีการอนุมัติจริง แต่ให้สำหรับคนที่ใส่ฟันปลอมทั้งปากแล้วใส่ไม่ได้ หรือมีปัญหาเรื่องเหงือก ก็ต้องไปฝังรากฟันเทียมก่อน เพื่อให้การใส่ฟันปลอมได้ ไม่ใช่ว่ามีปัญหารากฟันอยู่ 1 ซี่แล้วจะทำได้” ประธานบอร์ดการแพทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดการเพิ่มสิทธิ์ ตรวจสุขภาพในช่องปาก ที่เพิ่งมีมติอนุมัติด้วย นพ.สุรเดช กล่าวกล่าวว่า การตรวจสุขภาพในช่องปากนั้น จากที่มีการพูดคุยกับทันตแพทยสภาแล้ว มีการกำหนดอัตราจ่ายอยู่ที่ครั้งละ 100 บาท ค่าการตรวจนั้นต้องเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนและระบบในภายภาคหน้าด้วย ไม่ใช่ว่าตรวจ แต่ไม่มีข้อมูล หรือประโยชน์ของผู้ประกันตนในวันข้างหน้า เพราะจากข้อมูลผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมปีละประมาณ 4 ล้านคน เท่ากับว่า เราต้องจัดงบฯ ให้อีก 400 ล้านบาทเลย จึงจำเป็นต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อถามว่า การตรวจสุขภาพในช่องปากนั้น หมายรวมเฉพาะสุขภาพฟัน สุขภาพเหงือก เท่านั้น หรือรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วยหรือไม่ นพ.สุรเดช กล่าวว่า รวมทั้งหมด หากมีการตรวจเจอภาวะอื่นๆ หรือรอยโรคอื่นๆ ในช่องปาก เช่น เจอมะเร็ง หรือรอยโรคมะเร็ง ถ้าเจอก็จะเข้าข่ายการรักษาพยาบาล เท่ากับว่า เป็นการช่วยผู้ประกันตนในการตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ หรือถ้าตรวจเจอถุงน้ำ หรือ อื่นๆ ก็จะได้มีการส่งต่อเพื่อรักษา และไปใช้งบฯ ในส่วนของการรักษาต่อไป เพราะบางเรื่องเข้าข่ายเจ็บป่วยที่ให้รักษาได้เลย ซึ่งนี่ก็เป็นการช่วยผู้ประกันตน
“การตรวจสุขภาพปาก ก็เอาตามวิชาชีพของทันตแพทย์เลย ว่าตรวจเจออะไรก็บอกมา อันไหนเข้าข่ายรักษาพยาบาล โรงพยาบาลตามสิทธิก็รับไปรักษาต่อทันที” นพ.สุรเดช กล่าว