เตือนตลอดสัปดาห์ “ร้อนถึงร้อนจัด” กรมอนามัยแนะสังเกตอาการป้องกัน ฮีทสโตรก
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยตลอดสัปดาห์ประเทศไทยตอนบนสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด!! ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล อากาศร้อนทั่วไป กรมอนามัยเตือนอันตรายดัชนีความร้อน ส่งผลต่อสุขภาพ แนะนำประชาชนเตรียมรับมือ พร้อมแนวทางดูแลสุขภาพพ้นภัยความร้อน
วันที่ 23 เม.ย. 68 เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่สภาพอากาศทั่วไประหว่างวันที่ 23-29 เม.ย.2568 ระบุว่า ในช่วงวันที่ 23 – 25 เม.ย. ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฝนน้อย โดยยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ข้อควรระวัง คือ ในช่วงวันที่ 23 – 25 เม.ย. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยภาคเหนือ วันที่ 23-26 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัด มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23-24 เม.ย.อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และภาคกลาง ในช่วงวันที่ 23 – 25 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานานไว้ด้วย สำหรับชาวเรือในบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักไว้ด้วยตลอดช่วง
ส่วนกรุงเทพและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 23 – 25 เม.ย. อากาศร้อนโดยทั่วไป โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
กรมอนามัยเตือนเม.ย. ร้อนจัด อันตรายต่อสุขภาพ
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ช่วงเดือนเมษายนนี้ ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 23 – 24 เมษายน 2568 ค่าดัชนีความร้อนจะอยู่ในระดับอันตรายมาก (สีแดง) ที่จังหวัดภูเก็ต และค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (สีส้ม) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.ชลบุรี จ.พิจิตร จ.สุรินทร์ จ.พังงา จ.ตาก จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.ตราด จ.ลำปาง จ.กระบี่ จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.สระแก้ว จ.อุดรธานี จ.เพชรบูรณ์ จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี จ.ลพบุรี จ.จันทบุรี จ.ชุมพร จ.นครสวรรค์ จ.เพชรบุรี จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา จ.ระยอง จ.บุรีรัมย์ จ.แม่ฮ่องสอน จ.สุโขทัย จ.สุราษฎ์ธานี จ.ชัยภูมิ จ.นครศรีธรรมราช จ.ปัตตานี จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ประจวบคีรีขันธ์
“ค่าดัชนีความร้อนเป็นค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร (Feel like) ด้วยการวิเคราะห์หาค่าจากอุณหภูมิอากาศที่ตรวจวัดได้จริงกับความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เพื่อนำมาใช้ระบุความเสี่ยงที่ร่างกายได้รับผลกระทบจากความร้อน เมื่อค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (สีส้ม) ถึงอันตรายมาก (สีแดง) จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยจากความร้อน เช่น ผื่น ตะคริว ลมแดด เพลียแดด และฮีทสโตรก ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงที่สุดของโรคที่เกิดจากความร้อน อาจทำให้เสียชีวิตได้” พญ.อัมพร กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ผู้ที่ติดสุรา ผู้ที่มีภาวะทางจิตเวช ผู้โรคที่มีภาวะอ้วนและผู้ที่มีโรคประจำตัว อีกทั้ง กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนว่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จะมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง จึงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานาน ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นบางพื้นที่
แนะวิธีพ้นภัยความร้อน
ด้าน นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยจึงแนะนำวิธีปฏิบัติตน เพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อน ได้แก่ หมั่นติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ ค่าดัชนีความร้อน ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ และสังเกตสีปัสสาวะ หากมีสีเข้ม แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำทันที งดดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมา เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้คัดจมูก ยาขับปัสสาวะ ยารักษาจิตเวช อาจส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผู้ที่รับประทานยาดังกล่าวจึงควรหมั่นสังเกตอาการตนเองหากมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ทันที
ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อคอยสังเกตอาการซึ่งกันและกัน ผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด และสังเกตอาการผิดปกติเป็นพิเศษ
สังเกตอาการบ่งชี้ของฮีทสโตรก
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศ และพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือ ติดตามแนวทางการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ จากความร้อนจากกรมอนามัย รวมทั้ง ประเมินอาการเสี่ยงด้วยตนเองโดยใช้แบบสำรวจอนามัยโพล หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีผิวหนังร้อนแดง ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน รวมทั้งความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป ตอบสนองช้า พูดจาสับสน กระวนกระวาย มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ก้าวร้าวประสาทหลอน ซึมลง เป็นลม หมดสติ ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ของฮีทสโตรก ให้รีบปฐมพยาบาล โดยผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเร็ว และนำรีบส่งโรงพยาบาลหรือโทร 1669 และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือ กรมควบคุมโรค 1422