ศูนย์จีโนมฯ จับตา ส.ค.-ก.ย. โอมิครอน BA.4-BA.5 ลามทั่วไทย คาดอนุทิน ติดสายพันธ์ุนี้
วันที่ 1 ก.ค. 65 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4/BA.5 ในแถบยุโรปนั้น จากฐานข้อมูลโลก (GISAID) พบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มชันมากจนมีนัยสำคัญ อัตราการเสียชีวิตยังคงที่ เปรียบเทียบอาจจะใกล้เคียงหรือน้อยกว่าช่วงการระบาดของโอมิครอนแรกๆ ที่เป็น BA.1 และ BA.2
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า เมื่อดูประเทศโปรตุเกส ซึ่งก่อนหน้านี้มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ BA.4/BA.5 ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ขณะนี้กราฟเริ่มลดความชันลง หากมีสถานการณ์ที่น่ากังวลใดๆ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็คงต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อเตรียมการรับมือ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวและอัปโหลดแชร์ไว้บน GISAID สัดส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดในไทยช่วง 18 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 7-24 มิ.ย. 2565 นั้น
พบเป็น BA.2 จำนวน 23 ราย คิดเป็น 28.4% BA.4 จำนวน 11 ราย คิดเป็น 13.6% และ BA.5 จำนวน 18 ราย คิดเป็น 22.2% BA.2.12.1 จำนวน 8 ราย คิดเป็น 9.9% และอื่นๆ จำนวน 21 ราย คิดเป็น 25.9% เปรียบเทียบก่อนหน้านี้เห็นชัดว่า BA.4 และ BA.5 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นแต่ไม่ชันมาก สอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลกที่ BA.4 และ BA.5 เพิ่มมากขึ้นจนอาจจะครองพื้นที่
เนื่องจากทุกประเทศผ่อนคลายมาตรการ แม้แต่ อย.สหรัฐอเมริกาก็แนะนำให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนปรับสูตรเข็มบูสเตอร์รับมือกับสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดในขณะนี้ จึงเป็นแนวโน้มทั่วโลกที่สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ จะเข้ามาครองพื้นที่
“สำหรับประเทศไทยเชื่อว่าประมาณปลาย ส.ค.หรือต้น ก.ย. BA.4 และ BA.5 ก็คงครองพื้นที่เช่นกัน ส่วนกรณีการติดเชื้อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เท่าที่ประเมินจากอาการและยังฉีดวัคซีนเข็ม 6 ไปแล้ว ทั้งเป็นการติดเชื้อจากฝรั่งเศสที่มีการแพร่ระบาดของ BA.4 BA.5 เป็นอันดับต้นๆ รองจากโปรตุเกส ก็คงติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 เช่นกัน” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 4 ก.ค.2565 จะแถลงสถานการณ์สายพันธุ์ที่ระบาดในไทยขณะนี้ ซึ่งกรมวิทย์ มีการตรวจสายพันธุ์และวิเคราะห์เป็นรายสัปดาห์เพื่อพิจารณาถึงความเร็วในการแพร่ระบาดว่ามากน้อยแค่ไหน ส่วนความรุนแรงของเชื้อ ต้องใช้ระยะเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยขณะนี้ได้ประสานกับ รพ.ต่างๆ ส่งเชื้อผู้ป่วยอาการรุนแรงนำมาถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล