วิจัยเผย เสียง “นาฬิกาปลุก” ส่งผลกระทบต่อร่างกาย
เชื่อว่าหลายคนมีปัญหากับการตื่นนอนซึ่งทำให้เลือกนาฬิกาปลุกดังลั่นบ้านในการช่วยปลุกให้ทันเวลา และคิดว่าการใช้นาฬิกาปลุกแบบนี้ช่วยกระตุ้นได้ดีที่สุด แต่รู้สึกหรือไม่ว่าพอตื่นมาแล้วรู้สึกเพลียๆ ไม่ค่อยอยากทำอะไร และพร้อมที่จะหลับได้ตลอดเวลา
โดยงานวิจัยของนักวิจัย RMIT University ประเทศออสเตรเลีย พบว่าการตั้งนาฬิกาปลุกด้วยเสียงดังๆ หรือเสียงรุนแรงที่ทำให้ตกใจตื่นอย่างกะทันหันนั้นไม่ดีต่อสุขภาพเอาเสียเลย ส่งผลให้เราเกิดอาการมึนงง งัวเงียหลังตื่นนอน และอาจส่งผลให้ง่วงเหงาหาวนอนไปทั้งวัน ซึ่งอาการงัวเงีย อ่อนเพลีย รู้สึกว่าตื่นไม่เต็มตา นอนไม่เต็มอิ่ม ลืมตาไม่ขึ้น ที่เกิดขึ้นหลังตื่นนอน เรียกว่า Sleep Inertia หรือ SI ปกติแล้วคนเราอาจมีอาการแบบนี้อยู่ได้ราวๆ 4 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน แต่ถ้ารู้สึกนานกว่านั้นหรือง่วงงัวเงียทั้งวัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และอันตรายต่อผู้ที่ประกอบอาชีพบางอาชีพซึ่งอาจพลาดถึงขั้นเสียชีวิตได้
นักวิจัยจาก Australia’s RMIT University ได้ทำการวิจัยชิ้นนี้ขึ้น โดยรวบรวมอาสาสมัคร 50 คนทั้งเพศชายและเพศหญิง มากรอกแบบสำรวจออนไลน์ โดยพบว่าเสียงเพลงที่ปลุกแบบนุ่มนวลนั้น มีผลต่อการเกิดภาวะ SI อย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นคือ อาสาสมัครที่เลือกใช้เสียงนาฬิกาปลุกแบบรุนแรง จะเกิดภาวะ SI ได้มากกว่า กลับกันอาสาสมัครที่เลือกใช้เสียงนาฬิกาปลุกแบบหวาน ๆ เบาๆ กลับงัวเงียน้อยกว่า งานวิจัยนี้จึงได้ผลว่า อาการงัวเงียนั้นมีความสัมพันธ์แปรตามเสียงนาฬิกาปลุกที่เลือกใช้
เพราะฉะนั้น แม้ว่าเสียงนาฬิกาปลุกโหดๆ จะทำให้เราตื่นขึ้นได้ทันที ลดโอกาสที่จะทำให้เราไม่ตื่นหรือตื่นสาย แล้วไม่ไปเรียนหรือไปทำงานไม่ทันได้ แต่ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองจะลดลง เพราะเรายังรู้สึกงัวเงียอยู่ แต่เสียงนาฬิกาปลุกที่ซอฟต์กว่า จะทำให้สมองตื่นแบบค่อยเป็นค่อยไป แล้วตัวเราค่อยตื่นตาม เราจึงงัวเงียน้อยกว่า ตื่นเต็มตากว่า และสดชื่นมากกว่า แต่อาจพบปัญหาของการใช้เสียงเพลงไพเราะ เบาๆ หวานๆ กับคนที่เป็นคนตื่นยาก เพราะอาจกล่อมทำให้รู้สึกหลับสบายมากกว่า ดังนั้นควรมีมาตรการหรืออุปกรณ์เสริมช่วยอีกแรง