วอนรัฐเร่งปราบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ชี้ทำคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรรวม 3.35 ล้านปี
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่-สสส. วอนรัฐเร่งปราบ “บุหรี่ไฟฟ้า” จริงจัง ชี้บุหรี่ทำคนไทยทั้งประเทศสูญเสียปีสุขภาวะ หรือตายก่อนวันอันควรรวม 3.35 ล้านปี เร่งสร้างความตระหนักอันตรายบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ชี้หากอนุญาตถูกกฎหมาย ส่อทำคนไทยเป็นสิงห์อมควันเพิ่มขึ้น
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ม.ค. 68 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “เติมพลัง ปลุกความคิด สร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเติมทักษะ ที่เป็นประโยชน์ในการเสริมสมรรถนะการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ให้กับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจาก 52 จังหวัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การต่อสู้กับสงครามบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ต้องเกิดจากการรวมพลังกันทุกภาคส่วน บุหรี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญ ข้อมูลการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทย ปี 2562 หมายถึงผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร พบว่า บุหรี่ทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะไปถึง 3.5 ล้านปีต่อปี ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 ของภัยสุขภาพทั้งหมด
ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนผู้หญิงอยู่ที่ 15% ในขณะที่ผู้หญิงไทยทุกกลุ่มอายุสูบบุหรี่แค่ 1.3% แต่หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนหญิงอาจจะเพิ่มไปถึง 30-40% เมื่อเขากลายเป็นผู้ใหญ่ก็จะติดบุหรี่ตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 80 ปี ซึ่งมากกว่าผู้ชายไทยที่มีอายุเฉลี่ย 72 ปี ถึง 8 ปีเนื่องจากผู้ชายมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า แต่หากอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะส่งผลให้ผู้หญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นจนอายุสั้นเท่ากับผู้ชายที่ 72 ปี
“วันนี้เรากำลังรบในสงครามที่ยากจะเอาชนะ เป็นสงครามทุนนิยมที่มีเงิน 1 ล้านล้านบาท แต่เรามีโอกาสชนะถ้ามีความร่วมมือกันในทุกฝ่าย ทุกภาคีเครือข่าย นอกจากนั้นยังต้องอาศัยความร่วมมือจากสื่อสาร ความร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่จะช่วยสื่อสารกับสังคมได้รับรู้ เราต้องใช้ทุกช่องทางและทุกกระบวนในการสื่อสาร โดยมีงานวิจัยว่า 1 บาทที่ได้ลงไปกับการทำงานด้านยาสูบ จะได้คืนมา 10 บาท ซึ่งเกิดจากอายุคนไทยที่ยืนยาวขึ้น แล้วกลับมาเป็นแรงงานของประเทศ ลดอัตราความพิการ ลดการป่วยติดเตียง แต่แต่ละบาทนั้นไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคนไทยที่แข็งแรงขึ้น” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยย้อนหลัง 30 ปีที่ผ่านมา ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถือว่าแนวโน้มดีขึ้น ปี 2564 พบประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 56.1 ล้านคน แต่มีคนสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน นั่นคือ จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.6 ล้านคน ในระหว่างปี 2534-2564 ขณะที่จำนวนคนที่สูบบุหรี่ไม่เพียงแต่ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงเหลือ 10.9 ล้านคน นั่นคือลดลงจาก 12.3 ล้านคน ในปี 2534 ลดไป 1.4 ล้านคน แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาที่ท้าทายขึ้นมาใหม่จากการระบาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ที่ระบาดรุนแรงในเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เป็นปัญหาระดับชาติ ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสารเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดา
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey: GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จาก 3.3% ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า และมีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
“แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังมีช่องว่างทำให้สินค้าแพร่กระจายทั้งทางตรงและออนไลน์ แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย จึงจำเป็นที่ภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันทั้งระดับนโยบายและการสื่อสารรณรงค์ที่ต่อเนื่อง รวมถึงครูและผู้ปกครอง จะต้องรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เช่นนั้นจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลง มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้จำนวนคนสูบบุหรี่ที่ลดลงไปแล้วกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าว
นางสาวแสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบของภาคีเครือข่ายมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 5 ภาคี ได้แก่ เครือข่ายสื่อมวลชนส่วนภูมิภาคปลอดบุหรี่ เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ เครือข่าย Gen Alpha ปลอดบุหรี่ เครือข่าย Gen Z GenStrong : เลือกไม่สูบ และเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ร่วมสนับสนุนการทำงานใน 4 ภารกิจหลัก
1. การผลักดันและสนับสนุนการพัฒนานโยบายและกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ
2. การปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่และป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
3. การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีในระดับชุมชนขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ
4. พัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้และสื่อสนับสนุนการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า
ซึ่งส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบทบาทสำคัญสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดบทเรียนการเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นทั่วประเทศ