“เกลื้อน” โรคผิวหนังที่พบบ่อยกับวิธีดูแลตนเอง
“เกลื้อน” เป็นโรคที่คนส่วนมากมักสับสนกับโรคกลาก แต่ผื่นมีลักษณะที่แตกต่างกัน เนื่องจากเกลื้อนสามารถพบผื่นได้หลากหลายสี เช่น สีขาว สีแดง สีน้ำตาล สีชมพู ขอบเขตชัดเจน อาจมีรูปร่างที่ไม่แน่นอน และสามารถลามเป็นปื้นขนาดใหญ่ได้ แต่เพราะเกลื้อนอาจมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับโรคผิวหนังชนิดอื่นได้ จึงควรได้รับการขูดตรวจทางห้องปฏิบัติการว่า พบเชื้อเกลื้อนหรือไม่ ก่อนรักษา
ปัจจัยที่อาจกระตุ้นการเกิดเกลื้อน
– สภาพอากาศที่ร้อนและชื้น
– ผิวมัน
– เหงื่อ
– การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
– ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
วิธีรักษาเกลื้อน
1. การรักษาด้วยการใช้แชมพูฟอก
การรักษาด้วยการใช้แชมพูคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) 2% โดยผสมน้ำแล้วใช้ฟองฟอกประมาณ 5-10 นาที 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถช่วยให้เกลื้อนดีขึ้นได้ และอาจใช้ประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
2. การรักษาด้วยยาทา
แนะนำให้รักษาด้วยการทายาฆ่าเชื้อรากลุ่มเอโซล (Azole) เช่น ยาคีโทโคนาโซล (Ketoconazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นประจำ เวลาเช้า และเย็น ในบริเวณที่มีอาการ โดยจำเป็นต้องทาติดต่อกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์เพื่อให้หายขาด
3. การรักษาด้วยยาชนิดรับประทาน
มักใช้ในกรณีที่เป็นในบริเวณกว้าง หรือเป็นตามรูขุมขน ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาใช้ยา
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นเกลื้อน
– ชำระล้างร่างกายให้สะอาดเสมอ เลี่ยงความอับชื้น
– เช็ดตัวให้แห้งทุกครั้ง อาจใช้ไดร์เป่าแห้ง หรือทาแป้งได้ ในบริเวณที่คาดว่า อับชื้นได้ง่าย
– เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่เป็นประจำ รวมทั้งซักให้สะอาดและตากให้แห้ง เพื่อลดการสะสมเหงื่อ
– เลือกใส่เสื้อผ้าและถุงเท้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ไม่หนา ไม่คับ หรือรัดบริเวณที่เป็นผื่นจนแน่นเกินไป