“สมศักดิ์” จ่อเพิ่ม 3 พื้นที่พิเศษแบบชายแดนใต้ ชู 7 ข้อแก้ “หมอลาออก” ดัน “แยกสธ.ออกจาก ก.พ.”
‘สมศักดิ์’ ยก 3 จังหวัดเป็นพื้นที่พิเศษเหมือนชายแดนใต้ พร้อมใช้ 7 แนวทางกู้วิกฤต ‘หมอลาออก’ ดึงแพทย์เกษียณกลับมา เร่งเดินหน้าดันกฎหมายแยก สธ.ออกจาก ก.พ. รอเข้า ครม. จะทันรัฐบาลเพื่อไทยหรือไม่ ตอบได้ว่าทำเต็มที่ ปัดให้ความสำคัญพรบ.อสม ส่วนค่าตอบแทนพิเศษ ใช้ทั้งเงินบำรุงและงบประมาณ
หลังจากประเด็น “หมอลาออก” ที่จ.บึงกาฬ กลายเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความห่วงใย เนื่องจากไม่ใช่แค่จังหวัดเดียว ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นัดประชุมเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ในวันที่ 18 เม.ย. 68
ล่าสุดความคืบหน้าวันที่ 18 เม.ย. 68 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวภายหลังการประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาหมอลาออก และขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกวิชาชีพ ว่า
การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่ดีที่สุดซึ่งที่ประชุมได้พูดคุยกัน คือ การผลักดัน(ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ… (ก.สธ.) หรือร่างกฎหมายแยกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งจะทำให้การบรรจุเป็นข้าราชการ การแต่งตั้ง เงินเดือน และสวัสดิการของบุคลากรทั้งหมด สามารถทำได้โดยกระทรวงสาธารณสุข
“การผลักดันกฎหมายนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ดังนั้นการแก้ปัญหาในระยะนี้ ซึ่งสืบเนื่องจากปัญหาเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมและผู้บริหารกระทรวงก็ได้มีการปรึกษาหารือกันมาตลอด ต้องมีการดำเนินการเร่งด่วนด้วย” รมว.สธ.กล่าว
นอกจากนี้ แพทย์ที่ลาออกส่วนใหญ่ออกไปทำงานอื่นๆ ที่เปิดมาใหม่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เปิดรับแพทย์เพิ่มขึ้น รวมถึงโรงพยาบาล (รพ.) ใหม่ๆ ที่เปิดเพิ่มขึ้น ทำให้แพทย์ย้ายพื้นที่ทำงาน แต่ไม่ได้แปลว่าย้ายไปไหน ก็ยังอยู่ในประเทศไทย แต่ก็ทำให้แพทย์ที่ทำงานในสังกัด สธ.น้อยลง เกิดเป็นปัญหาขึ้น
รายละเอียด 7 ขั้นตอนแก้ปัญหา หมอลาออก
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โดยในพื้นที่ขาดแคลนที่ถูกปรับเป็นพื้นที่พิเศษ ได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหา 7 ขั้นตอน คือ
1. กำหนดพื้นที่พิเศษเพิ่มสิทธิประโยชน์
ลดระยะเวลาการใช้ทุนในการไปศึกษาต่อ จากเดิมที่ต้องใช้ทุน 3 ปีก็จะเหลือ 2 ปี หลังจากนั้นก็สามารถไปศึกษาต่อได้โดยไม่จำเป็นต้องลา โดยเตรียมประกาศให้จังหวัดบึงกาฬ แม่ฮ่องสอน และอาจจะเพิ่มพื้นที่จังหวัดตาก เป็นพื้นที่พิเศษ
พื้นที่พิเศษ 3 จังหวัด นอกเหนือชายแดนใต้
ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่พิเศษ เมื่อมีพื้นที่ใดขาดแคลนแพทย์หรือแพทย์ลาออก โดยคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาและการลาศึกษาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ที่มี นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน ก็จะประกาศกำหนดพื้นที่พิเศษ ซึ่งเร็วๆ นี้จะประกาศเพิ่มอีก 3 พื้นที่ คือ บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน และตาก เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยประกาศ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาแล้ว เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และลดระยะเวลาการใช้ทุนการไปศึกษาต่อจากเดิมใช้เวลา 3 ปี เหลือเพียง 2 ปีโดยไม่นับเป็นการลา
ผู้สื่อข่าวถามถึงเวลาที่จะประกาศพื้นที่พิเศษ ซึ่งประกอบไปด้วย อ.แม่สอด จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และ บึงกาฬ ว่าจะประกาศเมื่อไหร่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เร็วๆ นี้ หรืออาจสามารถประกาศได้เลยหลังจบจากการประชุมในเย็นนี้ หรือพรุ่งนี้ก็ได้
2. เพิ่มแพทย์เพิ่มพูนทักษะ
ทั้งแบบฝึกเองและแบบร่วมฝึกเพื่อให้มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไม่เกินจำนวน ตามที่มีการคำนวณอยู่ตลอดเวลา
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรณีที่ไม่มีแพทย์ใช้ทุน หรือหมออินเทิร์น ที่มาจากโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท หรือ CPIRD ในพื้นที่พิเศษ ก็จะเปิดรับแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชน หรือจากต่างประเทศ อย่างเช่นใน จ.บึงกาฬ ไม่สามารถฝึกหัดแพทย์อินเทิร์นได้มาก เพราะไม่มีแพทย์เฉพาะทางรองรับตามเกณฑ์ของแพทยสภากำหนด 5 สาขา ได้แก่ สูตินารีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารแพทย์ และ แพทย์ฉุกเฉิน
ยกตัวอย่าง หากมีแพทย์เฉพาะทาง 30 คน ก็จะมีหมออินเทิร์นได้ 30 คน ซึ่งแพทยสภาได้แนะนำว่าให้เอาแพทย์ในจังหวัดอื่นเวียนกันไปเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละจังหวัดพิเศษ อย่าง จ.บึงกาฬ ก็เวียนเอาแพทย์เฉพาะทางจากอุดรธานี หนองคาย นครพนม เวียนกันไปให้ครบตามกำหนด เพื่อให้แพทย์อินเทิร์นเข้าไปทำงานได้
3. ขอรับการสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากจังหวัดใกล้เคียง
4. เสริมระบบบริการด้วยดิจิทัลและเทเลเมดิซีน
โดยขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนให้มีเทเลเมดิซีนเพิ่มขึ้นและรวดเร็ว และขยายตู้ห่วงใย ที่มีการให้คำปรึกษาผ่านดิจิทัล รวมถึงให้นำแพทย์ที่เกษียณอายุราชการแล้วให้มาทำงานต่อได้ มาช่วยเป็นแพทย์ให้คำแนะนำ การตรวจวินิจฉัย เป็นต้น ซึ่งจะให้ สปสช. ไปช่วยปรับแนวทาง และดำเนินการเรื่องนี้
5. กำหนดตำแหน่งราชการรองรับแพทย์จากเอกชนและต่างประเทศ
เป็นการเปิดให้แพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีการรับรองปริญญาบัตรที่ทัดเทียมกับประเทศไทย ทั้งนี้ ในกรณีปกติที่ไม่เพียงพอ
6. พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ
อัตราเท่าครึ่งหรือ 2 เท่า หรือมากกว่านี้ ซึ่งตามระเบียบสามารถทำได้ถึง 3 เท่า แต่ต้องดำเนินการตามเหตุตามผลที่สามารถดำเนินการได้
7. ส่งเสริมสวัสดิการเช่น บ้านพัก การเดินทางและรับ – ส่งอย่างเหมาะสม
เงินค่าตอบแทนจากแหล่งเงินบำรุงและงบประมาณ
เมื่อถามถึงค่าตอบแทนพิเศษในพื้นที่พิเศษนี้จะใช้งบประมาณจากเงินบำรุงโรงพยาบาลหรือของบประมาณเพิ่มเติม นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ส่วนหนึ่งจะใช้จากงบประมาณ ถ้าเป็นเบี้ยเลี้ยงจะมีงบประมาณจัดสรรให้บางส่วนและจะพิจารณาว่า ถ้าเป็นพื้นที่พิเศษจะให้สัดส่วนมากกว่าพื้นที่ปกติทั่วไป
ส่วนที่ 2 จะเติมจากเงินบำรุง โรงพยาบาล ซึ่งในส่วนการบริหารจัดการในภาพรวมของจังหวัด เป็นลักษณะเป็นเงินกองกลางและเติมให้กับส่วนที่ขาดหรือไม่เพียงพอ นำไปใช้ในการบริหารจัดการภายในจังหวัด และระดับเขต ที่จะเติมเต็มให้แบบข้ามจังหวัดได้ ส่วนกระทรวงก็จะพยายามหาเงินสนับสนุน ให้กับส่วนที่ขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อไป
“สำหรับการกำหนดตำแหน่งข้าราชการแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชนและต่างประเทศจะไม่เป็นภาระงบประมาณของโรงพยาบาล เนื่องจากไม่ได้ใช้เงินบำรุง แต่เรามีกรอบตำแหน่งข้าราชการที่ ก.พ.อนุมัติและกรมบัญชีกลางกำหนดงบประมาณมาเป็นค่าจ้างอยู่แล้ว” รองปลัดสธ.กล่าว
เผยแนวทางลดภาระงาน
เมื่อถามถึงกรณีมีการตั้งคำถามว่าปัญหาการลาออกของแพทย์ไม่สามารถแก้ไขได้จริง อย่างการลดภาระงาน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนตั้งเป้าว่าอยากจะลดให้ได้ 30% แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร โดยตนขอ 2 ปี คือผลจากการรณรงค์ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เอ็นซีดี) ที่ให้อสม.ช่วยลดคาร์บ เพราะมีข้อมูลว่าคนเข้าโรงพยาบาล 300 กว่าล้านครั้ง ซึ่งเป็น NCDs 30% จะลดลงแน่นอน เท่ากับว่าจะลดความแออัดในส่วนนี้ ลดภาระงานได้ รวมถึงมาตรการเทเลเมดิซีนก็จะช่วยลดความแอดอัดในโรงพยาบาลได้ด้วย
ร่างพ.ร.บ.ก.สธ.อยู่ขั้นกลั่นกรองฯ ก่อนเสนอครม.
เมื่อถามถึงกรณีสส.พรรคประชาชนจี้ขับเคลื่อนพ.ร.บ.ก.สธ. ยังติดขัดอยู่ตรงไหน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรองที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หากผ่านชุดนี้แล้วถึงจะเข้าครม. ส่วนการขอความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ นั้นตนยังไม่ได้รับการสอบถามกลับมา ส่วนจะทันในปี 2568 หรือไม่ตนไม่ทราบ เนื่องจากนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของรมว.สาธารณสุข ซึ่งขั้นตอนจากเรานั้นถือว่าไปเร็วเต็มที่แล้ว เพราะตนมาอยู่ที่นี่ 9 เดือนอย่างพ.ร.บ.อสม.ก็ส่งไปถึงครม. แล้ว อย่างพรบ. อสม. ซึ่งมีอยู่ 3 หมวดเนื้อหาอาจน้อยกว่าก็เลยไปทัน
เมื่อถามว่ามีแผนสำรองหรือไม่หากไม่สามารถผลักดันพ.ร.บ.กสธ. ได้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มี มีแค่แผนเดียวคือได้กับไม่ได้เท่านั้น
เมื่อถามต่อว่ามีข้อเสนอให้ไปดีลกับก.พ.เพื่อขอเพิ่มสัดส่วนการบรรจุไปพร้อมๆกัน ได้คิดเรื่องนี้ไว้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า “ไม่ได้คิด”
ถามต่อว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ หรือแพทย์ลาออก ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังในทุกๆ รัฐมนตรีที่ผ่านๆ มา นายสมศักดิ์กล่าวว่า แก้ไม่ได้ข้อไหน แก้เกือบหมดแล้ว ตั้งแต่มาอยู่เป็นรมว.สธ. 9 เดือนทำมาแล้ว อะไรที่ยังค้าง ตนก็ทำ และตนก็ยินดีตอบคำถามทุกอย่าง
ผู้สื่อข่าวถึงถามย้ำว่าแสดงว่าเน้นเรื่องการออกจาก ก.พ.ให้ได้ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ทำกฎหมายไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าพ.ร.บ.นี้ จะบรรจุบุคลากรเป็นข้าราชการ รวมทุกสาขาวิชาชีพ รวมถึงสายสนับสนุนด้วยหรือไม่ นายสมศักดิ์ นิ่งไม่ได้ตอบคำถามนี้ แต่ นพ.ภูวเดช กล่าวว่า ถ้ากรอบบรรจุก็ต้องข้าราชการ
ชั่วโมงการทำงานแพทย์
ผู้สื่อข่าวถามว่าทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เรียกร้องมาตลอดในเรื่องของชั่วโมงการทำงานแพทย์มีความเป็นไปได้ที่จะทำได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ ถามกลับว่าหมายถึงชั่วโมงการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือไม่ และนายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า จริงๆ แพทย์บางคนเขาจะแลกเวรกันบางคนอยู่ยาว 24 ชั่วโมงแต่ก็มีห้องพัก ไม่เหมือนกับพยาบาลจะต่อกะกันไม่ได้ แต่ไม่มีห้องพัก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราก็ต้องไปดูของจริง เราอย่าไปนับชั่วโมง ถ้านับชั่วโมง ตนก็ยังตกใจบางคนทำงาน 80 ชั่วโมง เป็นไปได้อย่างไร แต่พอเข้าไปดูแล้วเห็นว่ามีห้องให้พักผ่อนได้เพียงแต่ไปไหนไกลจากบริเวณโรงพยาบาลไม่ได้ ที่ตนพูดแบบนี้ เพราะไปดูมาแล้วไม่ใช่นั่งเทียนพูด
เมื่อถามต่อถึงการเพิ่ม OT ให้กับทุกพื้นที่หรือไม่ และจะหางบประมาณจากไหน นพ.ภูวเดช กล่าวว่า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) บึงกาฬมีการนำเสนอวิชาชีพแพทย์เพียงวิชาเดียว ซึ่งแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน แต่คณะทำงานที่จะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ก็จะไปดูจังหวัดรอบข้างด้วย หากจังหวัดบึงกาฬรายรับรวมแต่ละเดือนยังได้น้อยกว่าจังหวัดรอบข้างเราก็จะพิจารณาปรับค่าตอบแทนค่านอกเวลาซึ่งตามระเบียบ สามารถปรับได้สูงสุด ถึง 3 เท่าในกลุ่มแพทย์ที่มีภาระงานสูง
เช่น แพทย์ห้องฉุกเฉิน และแพทย์ ICU ได้รับในอัตรา 3 เท่า ดังนั้นแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลนและมีชั่วโมงการปฏิบัติงานสูงก็จะมีชดเชย เพิ่มค่าโอที ซึ่งงบที่จะนำไปจัดสรรตนอธิบายไปข้างต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายรับที่โรงพยาบาลพึงได้นั้น หาก กองทุนแต่ละแห่ง จ่ายให้เราเต็มเม็ดเต็มหน่วย คิดว่าภาระตรงนี้เราสามารถจัดการได้
เมื่อถามว่าแนวทางแก้ปัญหา 7 ข้อนั้นจะใช้ในพื้นที่พิเศษเท่านั้นหรือ สามารถใช้ในภาพรวม ของแพทย์ทุกพื้นที่ที่มีภาระงานเยอะ นพ.ภูวเดช กล่าวว่า นี่เป็นแนวทางตั้งต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมีเกณฑ์ว่าเป็นพื้นที่ขาดแคลนจริง เพราะหาไปทำในพื้นที่อื่นๆให้เพิ่มขึ้นด้วยก็จะเกิดปัญหาการไหลของแพทย์ไปสู่พื้นที่นั้นอีก ดังนั้น จึงต้องมีกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งที่ผ่านมา เรื่องการพิจารณาถ้ามากกว่า 1 เท่าไม่เกิน 2 เท่าก็จะมีคณะกรรมการระดับจังหวัดที่มีนายแพทย์สาธารณสุขเป็นประธาน ถ้ามากกว่า 2 เท่าแต่ไม่เกิน 3 เท่าจะเป็นคณะกรรมการระดับเขต ส่วนทั้ง 8 โรงพยาบาลในบึงกาฬหากจำเป็นต้องเพิ่มก็ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่กล่าวมานี้พิจารณาความเหมาะสม
แก้ปัญหาเด็กเรียนหมอไม่ไหวในบางพื้นที่ขาดแคลน
เมื่อถามว่าปัจจุบันเด็กในพื้นที่ไม่ค่อยเรียนแพทย์จากโครงการCPIRD หรือผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) ดังนั้นจะมีนโยบายอะไรดึงคนในพื้นที่มาเรียนแพทย์ให้มากขึ้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่เรียน แต่เรียนไม่ไหว เขาไม่ผ่าน อย่าไปเชื่อ มีคนที่เรียนเก่งเขาแย่งกันไปเรียนแพทย์ แต่กลัวว่าจะเรียนไม่ไหว
“ดังนั้น มีการพูดคุยกันว่า หากจังหวัดรอบล้อม ที่มีคนเรียนเก่ง 10 คนแต่โควต้ามี 7 คน ก็จะเอา 3 คนที่เหลือไปไว้ในจังหวัดที่คนสอบไม่ค่อยผ่าน”
ปัดหนุนพรบ.อสม.มากกว่าร่างพรบ.ก.สธ.
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่ามีกระแสว่าท่านสนับสนุน พ.ร.บ.อสม. มากกว่า นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้สนับสนุนมากกว่า แต่เมื่อรมว.สธ.ทำตามหน้าที่แล้ว ก็ต้องส่งเรื่องตามขั้นตอนที่ต้องมีหลายส่วนพิจารณา จึงไม่ใช่อำนาจ รมว.สธ.เท่านั้น
“อำนาจของรมว.สธ.สุดแรงแล้ว จริงๆ ทำทั้งร่างพ.ร.บ.ก.สธ. เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.อสม.ก็ทำออกไปพร้อมๆ กัน แต่ก็ผ่านความเห็นของคณะรัฐมนตรี ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ก.สธ. จะเข้า ครม. อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน” นายสมศักดิ์กล่าว