กรมควบคุมโรคเผยปี 68 เข้าข่ายสงสัยเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัด 9 ราย
กรมควบคุมโรคเผยฤดูร้อนปี 68 พบเข้าข่ายสงสัยเสียชีวิตจากอากาศร้อน 9 ราย ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงอยู่กลางแจ้ง โดยเฉพาะช่วงอุณหภูมิสูงมาก ขณะเดียวกันช่วงร้อนเล่นน้ำ ยังพบคนจมน้ำเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา ที่กรมควบคุมโรค(คร.) ในการแถลงข่าวเรื่อง “เมษาใส่ใจ ระวังโรคและภัย หลังสงกรานต์” พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวตอนหนึ่งถึง “ภัยสุขภาพช่วงฤดูร้อน” ว่า จากรายงานสถานการณ์การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากอากาศร้อน โดยข้อมูลเมื่อปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น โดยข้อมูลการเฝ้าระวังช่วงวันที่ 21 กุมภาพันธ์-20 พฤษภาคม 2567 ได้รับรายงานการเจ็บป่วยและเสียชีวิตรวม 69 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วย 6 ราย และเสียชีวิต 63 ราย เป็นเพศชาย 54 ราย เพศหญิง 9 ราย อายุระหว่าง 30-95 ปี (เฉลี่ย 62ปี) ประกอบอาชีพรับจ้างร้อยละ 25 ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวร่วมด้วยร้อยละ 51 เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด มีพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การดื่มสุรา อีกทั้งพบว่า เป็นการเสียชีวิตภายนอกอาคาร หรือกลางแจ้งร้อยละ 62
พญ.จุไร กล่าวอีกว่า ส่วนปี 2568 ข้อมูลล่าสุดเมื่อไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 พบข้อมูลผ่านระบบรายงานแพลตฟอร์มเฝ้าระวังโรคดิจิทัล Digital Disease Surveillance (DDS) กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยจำนวน 34 ราย อายุระหว่าง 20 – 79 ปี ด้วยอาการเพลียหมดสติจากความร้อน ตะคริวแดด ลมแดด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและเกษตรกรรม มีความเสี่ยงจากการทำงานกลางแจ้ง นอกจากนี้ ยังได้รับข้อมูลเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากอากาศร้อน จากสื่อต่างๆ พบผู้สงสัยและเสียชีวิตที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะอากาศร้อนจำนวน 9 ราย อายุระหว่าง 27-75 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตกลางแจ้ง มีโรคประจำตัว 2 ราย พฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6 ราย
สำหรับคำแนะนำประชาชน งดออกกำลังกาย หรืออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อนมากๆ และขอให้ดื่มน้ำบ่อยๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีทึบดำ
พญ.จุไร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีภัยสุขภาพที่ต้องระวังอีกเรื่อง คือ อุบัติเหตุจากการจมน้ำ ปี 2558 – 2567 คนไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ย 3,687 คน/ปี เฉลี่ยวันละ 10 คน โดยช่วงฤดูร้อน (มีนาคม – พฤษภาคม) มีคนจมน้ำเฉลี่ย 963 คน เดือนเมษายนมีจำนวนสูงที่สุด (327 คน) กลุ่มอายุที่เสียชีวิตสูงสุด คือ 45 – 59 ปี (84 คน) รองลงมาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (70 คน) สาเหตุเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด รองลงมา คือ ประกอบอาชีพหาปลา หาหอย เก็บผัก แหล่งน้ำที่มีการจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รองลงมา คือ เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ มีการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนลงน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ เกือบทั้งหมดของคนที่จมน้ำไม่สวมเสื้อชูชีพ แนะประชาชน สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเล่นน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ ปฏิบัติตามป้ายเตือน งดดื่มแอลกอฮอล์เมื่ออยูใกล้แหล่งน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ