สปสช.เปิดรับฟังความเห็นแนวทางใหม่ “สุ่มตรวจเวชระเบียน” เพื่อให้ได้ข้อมูลบริการจริง
สปสช.เปิดรับฟังความคิดเห็น(ร่าง) ประกาศฉบับใหม่ปรับแนวทาง “สุ่มตรวจเวชระเบียน” เพื่อให้ได้ข้อมูลจริง คิดตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์(RW) รพ.ไหนบันทึกน้อยกว่าให้บริการจริง ปรับเพิ่มงบฯตามผลงาน ส่วนรพ.ไหนคีย์ข้อมูลมากกว่าการบริการจะถูกปรับลดลง ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ถึง 30 ก.ค.68
ตามที่มีผู้ท้วงติงในเรื่องการปรับเกณฑ์ “สุ่มตรวจเวชระเบียน” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เนื่องจากมองว่าอาจไม่สะท้อนข้อมูลจริง ขณะที่รองเลขาธิการ สปสช.ย้ำว่าวิธีดังกล่าวเพื่อให้ทราบถึงผลงานที่แท้จริง กรณีที่พบว่า บันทึกน้อยกว่าการให้บริการจริง สปสช. จะปรับเพิ่มผลงานในส่วนที่เบิกมาขาด ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับงบประมาณเพิ่มตามผลงานที่ทำมาจริง แต่กรณีที่บันทึกมากกว่าการให้บริการจริง สปสช. ก็จะปรับลดผลงานในส่วนที่เบิกมาเกิน เพื่อให้เป็นผลงานที่แท้จริงเช่นกัน
วันที่ 20 ก.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประกาศที่จะมารองรับนั้น ล่าสุด สปสช. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น(ร่าง) ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. …. ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย LAW ซึ่งสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ก.ค.2568
ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่าน LAW
โดยประกาศดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ.2567 เพื่อให้บุคคลทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ใจความสำคัญมีการปรับแก้ไข 3 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 คือ การเพิ่มความต่อไปของ ข้อ 20/1 แห่งประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ.2567 เป็นข้อความนี้แทน
“ข้อ 20/1 การจ่ายค่าใช้จ่ายตามข้อ20 ในการประมวลผลข้อมูลการจ่ายให้พิจารณาจ่าย โดยใช้ระบบการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups : DRGs) ฉบับที่ 5 เทียบกับฉบับที่ 6 กรณีหน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. ให้พิจารณาค่า K ประกอบด้วย หากฉบับใดได้จำนวนค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (SumAdjRW) มากกว่า จะจ่ายด้วยฉบับนั้นในทุกสังกัดและในภาพรวม ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 โดยใช้ผลงานที่ถูกต้องในการคำนวณจ่ายชดเชยจากงบประมาณค่าบริการผู้ป่วยในทั่วไปที่กันไว้สำหรับบริการจัดการระดับประเทศ”
ส่วนที่ 2 คือ ยกเลิกความในข้อ 25 แห่งประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ.2567 เป็นข้อความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 25 ให้สปสช.สปสช. กำกับ ติดตาม ผลงานบริการที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และการตรวจสอบการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข (Medical audit) โดยให้นำผลการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับบริการผู้ป่วยในทั่วไปสุ่มตรวจสอบแบบไม่มีเงื่อนไข (Random Sampling) ของหน่วยบริการระดับเขต ภายใต้ประกาศบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปีงบประมาณนั้น มาประกอบการพิจารณาปรับค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (SumAdjRW) ให้ถูกต้อง โดยการนำค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ตรวจสอบพบว่าไม่ถูกต้องดังกล่าวไปคำนวณย้อนกลับจากผลงานในภาพรวมทั้งหมด (Extrapolation) โดยยังคงเป็นการบริหารในระดับเขตภายใต้วงเงิน Global budget ระดับเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด โดยคำแนะนำหรือความเห็นของคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนที่คณะกรรมการแต่งตั้ง”
ส่วนที่ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น 34.6 ของข้อ 34 แห่งประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ.2567 ดังนี้
“34.6 บริการการอ่านภาพรังสีเอกซเรย์ทรวงอกด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ให้จ่ายให้แก่หน่วยบริการที่มีศักยภาพในการให้บริการ ภายใต้ความตกลงระหว่างสำนักงานกับหน่วยบริการ”
โดยประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.2568 เป็นต้นไป เว้นแต่สองส่วนแรกที่ให้บังคับใช้ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567
ลงนามโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ