สหภาพแพทย์ฯ ชี้ “หมอลาออก” ยอดของยอดภูเขาน้ำแข็ง มีอีกหลาย “วิชาชีพ” ประสบชะตากรรม
สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ชี้ปัญหา ‘หมอลาออก’ เป็นปรากฎการณ์ ยอดของยอดภูเขาน้ำแข็ง มีอีกหลายวิชาชีพประสบปัญหายิ่งกว่า ‘แพทย์’ ทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ กรอบบรรจุน้อยกว่าเยอะ หวังผลักดันกฎหมาย ‘แยกสธ.ออกจาก ก.พ.’ ต้องตอบโจทย์ทุกปัญหาและทุกวิชาชีพอย่างแท้จริง ชูการศึกษา Systems thinking ของ ‘นพ.บวรศม’
ปัญหา ‘หมอลาออก’ ไม่ใช่แค่จ.บึงกาฬเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่มีแทบทุกพื้นที่ และสาเหตุมีหลากหลาย ซึ่งมีการสำรวจแพทย์จบใหม่ที่เพิ่งได้รับเลข ว.หรือใบประกอบโรคศิลปะ โดยแพทยสภาสำรวจความคิดเห็นก่อนปฏิบัติงานจริง พบว่า 3.5% ต้องการลาออก ซึ่งมีหลายสาเหตุ
อีกทั้ง สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ยังสำรวจความคิดเห็นของแพทย์ที่กำลังปฏิบัติงานในรพ.ภาครัฐ ถึงแนวโน้มการตัดสินใจลาออกพบกว่า 80% กำลังคิดจะลาออก ซึ่งเก็บข้อมูลวันที่ 18-19 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
โดยสรุปสาเหตุของปัญหาการลาออก หลักๆ คือ ภาระงานหนักเกินไป ค่าตอบแทน ไม่มี incentive ภาครัฐ ขาดความก้าวหน้าในวิชาชีพ เป็นต้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.ชลทิพย์ ธีระชาติสกุล ตัวแทนสหภาพแพทย์ ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงปัญหา “หมอลาออก” ของระบบสาธารณสุขไทย กับทิศทางการแก้ปัญหา ว่า ก่อนอื่นต้องย้ำว่า หมอลาออก ไม่ใช่แค่จ.บึงกาฬ เพียงแต่บึงกาฬมีแพทย์ลาออกจำนวนมาก ทำให้ถูกจับตามอง แต่เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ประสบปัญหา และช่วงที่ผ่านมามีบุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้แต่สมาชิกวุฒิสภา ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์กันจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหา และทางออกคล้ายๆกัน
ดังนั้น ก่อนที่จะมาหาทางออกร่วมกัน ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ว่า มีปัญหาจริงๆ เป็นวิกฤตระบบ ต้องเปิดใจรับฟังหลายๆส่วน
“ต้นตอของปัญหาไม่ได้มีแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะมีหลายปัจจัย เป็นยอดของยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีวิชาชีพอื่นด้วย ต้องแก้หลายๆจุดร่วมกัน” พญ.ชลทิพย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าเห็นด้วยกับการผลักดัน(ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. ….หรือร่างกฎหมายแยกสธ.ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพื่อเป็นทางออกกู้วิกฤตบุคลากรหรือไม่ พญ.ชลทิพย์ กล่าวว่า คงตอบโจทย์ได้บางส่วน แต่หากไม่แก้ไขปัจจัยอื่นๆที่เป็นปัญหาควบคู่ไปด้วย คงไม่ได้ดีไปกว่านี้ ดังนั้น การผลักดันให้เกิดกฎหมายแยกสธ.ออกจาก ก.พ.เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่เสียของ ต้องมีการแก้ปัญหาอื่นๆ ควบคู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาระงาน ค่าตอบแทน ฯลฯ
ยกตัวอย่าง กรณีครู ออกจากสำนักงาน ก.พ.ไปก่อนหน้านี้ ค่าตอบแทนก็มากขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ในเรื่องคุณภาพการศึกษา อาจเพราะระบบราชการที่มาครอบไม่ได้เอื้อหรือสนับสนุนการพัฒนาของคุณภาพการศึกษาเท่าไหร่ อย่างเรื่องงานเอกสารต่างๆ ภาระงานที่ทำให้ต้องไปโฟกัสจุดนั้นแทนการดูแลเด็ก กระทรวงสาธารณสุขก็เช่นกัน หากออกจากสำนักงาน ก.พ.ได้จริง การบรรจุข้าราชการ การให้ค่าตอบแทนต่างๆ สามารถพิจารณาได้ตามความเป็นจริง แต่ในเรื่องความเป็นธรรม ความก้าวหน้าในทุกวิชาชีพก็ต้องดูแลให้รอบด้าน
ยกการศึกษา “นพ.บวรศม” กับ systems thinking
พญ.ชลทิพย์ กล่าวอีกว่า ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสได้รับฟัง รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองหัวหน้าศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวถึงกระบวนการคิดเชิงระบบ (systems thinking) หมายถึงปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน จำเป็นต้องคลี่ปัญหาทั้งหมดออกมา เพื่อดูว่าสาเหตุที่ผสมกันจนกลายเป็นปัญหาใหญ่มีอะไร ต้องตีแผ่ทุกข้อ สมมติมี 100 ข้อ หากแก้ปัญหาแค่ข้อเดียว คงไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด แต่บางครั้งใน 100 ข้อ อาจมี 9 ข้อแก้ไขได้ และทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไปในแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็จะเป็นทิศทางที่ควรดำเนินการ ไม่ใช่ว่าแก้ปัญหาด้วยการ พื้นที่ไหนขาดแคลนหมอ ก็ส่งหมอจากอีกจังหวัดไปป้อนให้เต็ม กลายเป็นว่า กระทบอีกพื้นที่
“อย่าลืมว่า คนมีอยู่แค่นี้ หมอมีจำนวนเท่านี้ กระจายไปที่ไหนยังไงก็ต้องขาด ไม่ว่าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องนี้ควรแก้เชิงระบบจริงๆ ไม่เช่นนั้นปัญหาก็เวียนกลับมาเช่นเดิม” ผู้แทนสหภาพฯกล่าว
หมอลาออก ปรากฎการณ์ยอดของยอดภูเขาน้ำแข็ง
พญ.ชลทิพย์ กล่าวอีกว่า ปรากฎการณ์หมอลาออก เป็นยอดของยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะในกระทรวงสาธารณสุข ยกให้หมอได้แสงมากที่สุดแล้ว ถูกสปอยเยอะที่สุดแล้ว ค่าตอบแทนหากบอกว่าน้อย ก็น้อยกว่างานที่ได้รับ น้อยกว่าเอกชน แต่หากเทียบอัตราส่วนกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ ก็ถือว่าใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เพราะถ้าเทียบกับสาขาอื่นๆ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เขาน้อยกว่ามาก เงินน้อยไม่พอ สิทธิประโยชน์ โอกาสบรรจุยังน้อยตาม ดังนั้น คิดตามสภาพว่า ตอนนี้หมอลาออกกันเยอะขนาดนี้ วิชาชีพอื่นๆ จะมีสภาพอย่างไร นี่คือแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง หากไม่แก้เชิงระบบย่อมกระทบ และในที่สุดระบบสาธารณสุขจะล่มสลาย ซึ่งไม่ได้พูดเกินจริง
พญ.ชลทิพย์ กล่าวว่า สหภาพแพทย์ก็พยายามเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า พวกเราก็ต้องทำงาน ต้องให้บริการผู้ป่วยอยู่ ทุกคนในสหภาพฯที่มาขับเคลื่อนต่างยังทำงานให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข บุคลากรเป็นเด็กดีตลอด ดังนั้น การที่พวกเราออกมาแสดงความคิดเห็น ตีแผ่ข้อมูลภาระงานต่างๆ ก็ชัดเจนแล้วว่า พวกเราสุดแล้วจริงๆ ไม่รู้ว่าจะอยู่กับปัจจุบันที่ทำงานยุ่งจะแย่อยู่แล้ว หรือจะต้องคำนึงถึงอนาคต
“ที่ผ่านมาก็ยังดีที่ได้ไปพูดคุยในกรรมาธิการการสาธารณสุข ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็มองว่า จากการพูดคุยยังไม่สามารถการันตีได้ว่า จะปรับปรุงแก้ไขเชิงระบบอย่างไร เพราะจากการหารือในเวทีวันนั้น ไม่เข้าใจผู้บริหารว่า รับทราบและเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงหรือไม่” ตัวแทนสหภาพฯกล่าวทิ้งท้าย