กมธ.สธ. ชู 5 ประเด็น‘ปลดล็อกวิกฤติกำลังคนสุขภาพ’ กับหน้าที่โรงเรียนแพทย์มีส่วนช่วยประเทศอย่างไร
กมธ.การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร รวม 5 ประเด็น “ปลดล็อกวิกฤติกำลังคนสุขภาพ” ทั้งปรับบทบาทโรงเรียนแพทย์ แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเงินเดือน ค่าตอบแทน จำกัดชั่วโมงการทำงาน ฯลฯ
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 68 ณ ศูนย์ SLDC บ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยฯ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร จัดงานเสวนา ในหัวข้อ “ปลดล็อกวิกฤติกำลังคนสุขภาพ” โดยมี น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า การคุยเรื่องปัญหาสาธารณสุขไทยหากไม่คุยกับบุคลากรจะไม่ได้ผล ขณะนี้มีบุคลากรลาออกหรือไหลไปเอกชนจำนวนมาก รัฐบาลไม่ได้เร่งแก้ปัญหาแต่เร่งผลิตแพทย์เพิ่มอย่างเดิม ผลิตเท่าไรก็ออกเพราะไม่ให้สวัสดิการเพิ่ม
“เราต้องการความเห็นจากทุกท่านว่านโยบายไหนควรไปต่อและนโยบายไหนควรพอได้แล้ว นอกจากแพทย์แล้วพยาบาลหรือแม้แต่อาจารย์แพทย์ก็ลาออก เกิดจากชั่วโมงการทำงานมากเกินไป ไม่มีความก้าวหน้าทางอาชีพ ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม กระทรวงบอกให้คนอดทนทำเพื่อประชาชน แต่ทุกอาชีพไม่ใช่การกุศลจึงต้องได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม มีความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน ถ้าตนได้เป็นฝ่ายบริหารจะรีบแก้ไข” น.ส.กัลยพัชร กล่าว
ทั้งนี้ภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบ่งออก 5 ประเด็น ดังนี้
1. ประเด็น “การปรับบทบาทโรงเรียนแพทย์เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข”
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล คณะแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒน์ กล่าวว่า มีผู้วิจัยไว้ว่าภาระงานของแพทย์มาก ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม ไม่มีสมดุลในการใช้ชีวิต ขาดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ขาดแคลนอุปกรณ์ แต่เรื่องปัญหาในองค์กรหรือการไม่เป็นประชาธิปไตยยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แพทย์ใช้ทุนกลายเป็น “แพทย์ใช้แล้วทิ้ง” อยู่โรงพยาบาลไม่นาน ไม่ผูกผัน ต่างฝ่ายต่างไม่ให้คุณค่าต่อกัน ไร้ค่า จึงไม่ให้การฝึกและความใส่ใจ ต้องเสียสละบนความไม่เป็นธรรมและเสี่ยง เสี่ยงถูกฟ้องร้องและเจ็บป่วยเพราะทำงานหนัก แม้ปัจจุบันจะมีค่าตอบแทนให้บ้างแต่ก็ไม่เพียงพอ ระบบกลั่นกรองและป้องกันโรคก็ไม่เพียงพอ สังคมผู้สูงอายุ และนโยบายประชานิยมที่เพิ่มผลประโยชน์ทำให้คนมารักษามากขึ้นแต่คนไม่เพิ่ม สุดท้ายแพทย์ก็ลาออก
ขณะเดียวกัน รร.แพทย์เองก็มุ่งเน้นความเป็นเลิศ แพทย์เองเมื่อเรียนมาสูง ๆ ก็ไม่อยากไปอยู่ที่ไกล ๆ หรือทุรกันดาร ปัญหาการขาดแคลนแพทย์กระจาย แต่กระทรวงฯ ก็ทิ้งปัญหานี้มาเป็นสิบปี รร.แพทย์ก็ไม่สอนเรื่องการรักษาโรคพื้นฐาน เมื่อฝึกมาสูงแต่ต้องไปรักษาโรคธรรมดาๆ ก็ทำให้แพทย์ขาดความมั่นใจ ช่วงโควิดก็ไม่ได้เงินชดเชย แพทย์สภาก็ถามว่าทำไม นร.แพทย์ถึงทำงานได้น้อย กลายเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหมด แต่ในพื้นที่ก็ยังอยากได้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปอยู่ นโยบายรัฐบาลตั้งแต่ทักษิณจนประยุทธ์ก็อยากสร้างไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เพื่อดึงนักท่องเที่ยว แพทย์สภาขณะนี้ก็ไปเน้นผลิตแพทย์เสริมความงามทั้ง ๆ ที่แพทย์ก็ยังลาออกอยู่ ค่าปรับ 4 แสนก็ไม่เพิ่มตามเงินเฟ้อ แพทย์จึงกล้าลาออกไปทำงานใช้หนี้มากขึ้นเพราะมั่นคงในอาชีพมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม รร. แพทย์ของรัฐมี 24 แห่ง กับเขตการแพทย์ 12 เขต เสนอให้ 2 แห่งรับผิดชอบ 1 เขตเพื่อให้แพทย์ไม่ขาด ปัญหาคือถ้าเอาเด็กในพื้นที่จริง ๆ ก็สอบได้ไม่ถึงร้อยละ 30 จึงต้องไปแก้ที่ท้องถิ่นด้วยโดยต้องทำงานร่วมกัน แบ่งความรับผิดชอบที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหา” นพ.สุธีร์ กล่าว
2. ประเด็น “การเพิ่มเงินเดือน สวัสดิการ เงินพิเศษ”
พญ.ชลทิพย์ ธีระชาติสกุล สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานชลทิพย์ กล่าวว่า เด็กที่อยู่ต่างจังหวัดจริง ๆ หลายคนกระเสือกกระสนส่งตัวเองเรียนได้ก็เรียนไม่ทันเพื่อน ยกตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยพะเยา ให้โควตาเป็นโรงเรียน ไม่ใช่อำเภอหรือจังหวัด แม้แต่โรงเรียนบนดอยก็ทำ เพราะมีงานวิจัยว่าวิชาที่ทำให้เด็กเรียนแพทย์สำเร็จไม่ใช่วิชาชีววิทยาหรือวิชาสายวิทย์ แต่เป็นภาษาอังกฤษที่ทำให้เด็กอ่านตำราได้ รวมทั้งทักษะทางสังคม จึงมีการจัดการอบรมภาษาอังกฤษเป็นพิเศษให้เด็กในโรงเรียนที่มีศักยภาพจนสำเร็จ
“ขณะที่แพทย์ที่ กทม. ก็มองว่า ม.พะเยาเพิ่งเปิดใหม่ อาจารย์จึงยังมีไฟอยู่ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนอยากกลับบ้าน หากต้องกระเสือกกระสนมาที่ กทม. ก็ต้องกระเสือกกระสนไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าได้เรียนที่บ้านก็จะสะดวกกว่า โครงการเช่นนี้ทำให้โรงเรียนห่างไกลสามารถสอบติดหลาย ๆ คณะใน ม.พะเยาได้มากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด หรือที่ ม.ลาดกระบังก็ตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นเพื่อผสานกับวิศวกรรมศาสตร์”
ปัญหาเหล่านี้ทุกคนต้องช่วยกัน ตนอยากเรียนเวชปฏิบัติทั่วไปแต่เรียนแค่ 6 ปียังไม่พอ ค่าตอบแทนก็น้อย แพทย์บางคนก็บอกให้อยู่เวรหรือผ่าตัดเพราะจะได้เงินเพิ่ม แต่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปไม่ได้ทำงานเช่นนั้น สุดท้ายก็มีแต่คนที่มีอุดมการณ์เท่านั้นที่เข้ามา พ่อตนบอกไม่ให้เป็นแพทย์เพราะเหนื่อยและหนัก แต่ตนก็ยืนยันจะเรียน ทุกวันนี้ก็ยังได้เงินน้อยอยู่ ก่อนปี 2548 ทุกคนจะได้เงินเท่าข้าราชการพลเรือน แต่หลังจากนั้นก็มีเงินพิเศษ เบี้ยกันดาร และเงินไม่ประกอบเวชปฏิบัติส่วนตัวเพิ่มอีก 1 หมื่นบาท นั่นคือเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งทองราคาบาทละ 8.5 พันบาท แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เพิ่มทั้งที่ทองราคาบาทละ 5 หมื่นแล้ว
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้บุคลากร รู้สึกว่าไม่เพียงพอ หากให้คนทำงานอยู่ก็ต้องมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้ทุกคนทุกแผนก นักสุขศึกษา (hygienist) ที่แคนาดาสามารถอยู่ได้เพราะมีสหภาพไว้ต่อรองค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ไม่ต้องถึงเป็นเศรษฐีแต่สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานหนักเกินไป คุณภาพชีวิตอื่น ๆ ก็ต้องดี มีรัฐสวัสดิการ ไม่ต้องขวนขวายส่งลูกไปโรงเรียนดี ๆ หรือเก็บเงินไว้ยามเกษียณมาก ๆ เพราะบริการของรัฐสามารถดูแลได้
3. ประเด็น “นโยบายจำกัดชั่วโมงทำงาน”
น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ ผู้ก่อตั้ง Nurses Connect (ภาคีพยาบาล) กล่าวว่า พยาบาลก็มีปัญหาคล้าย ๆ กับแพทย์ คือ ภาระงานหนักแต่เงินน้อย ข้อมูลปี 2566 มีพยาบาลวิชาชีพ 194,735 คน อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด โดยพบว่า รพ. รัฐของไทยทำงานเกินชั่วโมงทำงานมาตรฐาน เฉลี่ย 70 – 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงสุด 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เงินก็ไม่ได้เพิ่ม ที่สำคัญพยาบาลที่ทำงานหนักเกิน 12 ชั่วโมงต่อวันหรือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะมีโอกาสทำงานพลาดมากขึ้น รวมถึงเสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ จึงต้องจำกัดจำนวนชั่วโมงให้เหมือนพนักงานบริษัททั่วไป ไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน
4. ประเด็น “การพัฒนาบริการสุขภาพนอก รพ. ลดภาระบุคลากรในโรงพยาบาลด้วยบริการสุขภาพที่ชุมชน เช่น การนับคาร์บ คลินิก NCDs ชุมชน ฯลฯ”
ผศ.ภูริทัต พลเสน ภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า เรามักตั้งความหวังกับการบริการสุขภาพปฐมภูมินอก รพ. เพื่อลดภาระของบุคลากรใน รพ. ขณะนี้มี อปท. และภาคเอกชนเข้ามา ซึ่งทรัพยากรก็กระจายไปอยู่ มีทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข อสม. และ อสส. แม้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปจะเป็นถังขยะของ รพ. แต่ก็เป็นเทวดาของชาวบ้าน อาสาสมัครก็สามารถค้นข้อมูลการแพทย์ได้ในโทรศัพท์ มี พ.ร.บ. การสาธารณสุข 2535 หาก อบต. ลงไปทำเรื่องสาธารณสุขก็จะลดคนป่วยได้
ที่ผ่านมาเราสนใจแต่ด้านอุปทาน คือ บุคลากร แต่ไม่ดูด้านอุปสงค์ คือ คนไข้ แม้อายุเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นแต่อายุของการใช้ชีวิตที่ดีกลับลดลง ส่วนเรื่อง “การนับคาร์บ” ตอนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนในชุมชน ประชาชนทั่วไป หรือ อสม. ต้องเข้าใจด้วย ดังนั้นเครื่องมือต้องง่าย เพราะถ้าเครื่องมือไม่ง่ายสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอาจจะเป็นภาระหรือไม่..
5. ประเด็น “เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรการแพทย์”
ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กล่าวว่า ตนมีโอกาสคุยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันไทยซึ่งบอกว่าระบบสุขภาพของไทยเปราะบางมากและกำลังจะล่มสลายในไม่นานนี้ แต่เราคิดว่าระบบสุขภาพไทยดีแล้ว บางคนก็ว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนยังได้คุยกับแพทย์ระดับสูงที่ลาว ซึ่งพบว่าไม่สามารถสั่งการจากด้านบนเพื่อแก้ปัญหาได้ จึงลาออกมาเปิดคลินิกปฐมภูมิแทน ระบบสุขภาพของลาวก็เป็นเหมือนไทย ผลิตแพทย์เท่าไรก็ไม่พอเพราะลาออกไปเข้าธุรกิจเสริมความงามหมด
“เรามักเน้นการเข้าถึงบริการสุขภาพ แต่ยังต้องมีเรื่องคุณภาพด้วย หากคนเข้าถึงมาก ๆ คุณภาพก็จะตกลง ตนได้คุยกับผู้บริหาร สปสช. ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่รัฐบาลยุคนั้นสนับสนุนนโยบายนี้ไม่ใช่แค่เพราะประชานิยม แต่ถ้าประชาชนมีเงินเหลือก็จะไปใช้กับเอกชน” ดร.นพ.วิรุฬ