“โรค NCDs” เกิดจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะการเลือกโภชนาการอาหาร มอง “การนับคาร์บ” ตอบโจทย์แต่ยังไม่ 100%
“อาจารย์ภูริทัต” คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล เผย การลดเจ็บป่วย ลดภาระงานให้บุคลากร ต้องปลดล็อคระเบียบและกฎหมาย ชี้โรค NCDs เกิดจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะการเลือกโภชนาการอาหาร มอง “การนับคาร์บ” ตอบโจทย์แต่ยังไม่ 100%
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2568 ณ ศูนย์ SLDC บ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยฯ ภายในงานเสวนา ในหัวข้อ “ปลดล็อควิกฤติกำลังคนสุขภาพ” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ผศ.ภูริทัต พลเสน ภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึงประเด็น “การพัฒนาบริการสุขภาพนอก รพ. ลดภาระบุคลากรในโรงพยาบาลด้วยบริการสุขภาพที่ชุมชน เช่น การนับคาร์บ คลินิก NCDs ชุมชน ฯลฯ” ว่า เรามักตั้งความหวังกับการบริการสุขภาพปฐมภูมินอก รพ. เพื่อลดภาระของบุคลากรใน รพ. ขณะนี้มี อปท. และภาคเอกชนเข้ามา ซึ่งทรัพยากรก็กระจายไปอยู่ มีทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข อสม. และ อสส.
แม้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปจะเป็นถังขยะของ รพ. แต่ก็เป็นเทวดาของชาวบ้าน อาสาสมัครก็สามารถค้นข้อมูลการแพทย์ได้ในโทรศัพท์ มี พรบ.การสาธารณสุข 2535 หาก อบต. ลงไปทำเรื่องสาธารณสุขก็จะลดคนป่วยได้ ที่ผ่านมาเราสนใจแต่ด้านอุปทาน คือ บุคลากร แต่ไม่ดูด้านอุปสงค์ คือ คนไข้ แม้อายุเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นแต่อายุของการใช้ชีวิตที่ดีกลับลดลง
เราเห็นแพทย์เกษียณแล้วลงไปใน รพ. ท้องถิ่น และท้องถิ่นที่พยายามสร้าง รพ. ชั้นดี ที่เทศบาลบึงยี่โถมีศูนย์การแพทย์ปฐมภูมิซึ่งไม่มีเตียงผู้ป่วยในเลยและนายกเทศมนตรีบอกวาจะไม่มีด้วย แต่ตอบโจทย์ในท้องที่ได้ ศูนย์ฯ มีนักกายภาพ 4 คนซึ่งมากกว่า รพ. ชุมชน รักษาโดยเก็บเงินแต่ไม่มาก งานขับเคลื่อนนอก รพ. เราเห็นภาพเดียวกันไหม จะต้องมีการปลดล็อคระเบียบและกฎหมาย ตั้งโจทย์ลดการเจ็บป่วยและลดภาระงานให้บุคลากร
ผศ.ภูริทัต กล่าวว่า ต้องบอกว่าโรค NCDs เกิดจากหลายปัจจัย หลักๆคือเรื่องการเลือกโภชนาการซึ่งการนับคาร์บถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีปัจจัยอื่นด้วย อาทิ กิจกรรมทางกาย เรื่องความเครียด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีปัจจัยทางสังคมอื่นๆ ถ้าถามว่าการนับคาร์บ ตอบโจทย์การลด NCDs ได้หรือไม่ต้องบอกว่ายังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และสิ่งที่มาพร้อมกับการนับคาร์บคือกระบวนการและวิธีการซึ่งนำมาสู่การนับคาร์บเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าไปถึงขั้นมีการกำหนดโภชนาการ กำหนดชนิดของอาหารจะมีความยากขึ้น ฉะนั้นขั้นตอน “การนับคาร์บ” ตอนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนในชุมชน ประชาชนทั่วไป หรือ อสม. ต้องเข้าใจด้วย ดังนั้นเครื่องมือต้องง่าย เพราะถ้าเครื่องมือไม่ง่ายสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอาจจะเป็นภาระหรือไม่..
ทั้งนี้ถ้าถามว่าข้อมูลที่ได้มาตอบโจทย์การลดลงของโรค NCDs ได้จริงหรือไม่นั้น นักวิจัยก็ต้องถามเหมือนกันว่า อย่างเรื่องการหยุดยาได้มาจากการนับคาร์บตัวเดียวหรือไม่ เรื่องนี้ก็ต้องดูภาพรวมว่าท้ายที่สุดแล้วการหยุดยาได้จริง ต้นทางเป็นเพราะอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามการนับคาร์บอาจจะใกล้เคียงที่สุด เพราะช่วยในเรื่องการลดน้ำตาลได้มาก แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นคำตอบของทั้งหมดได้
“อย่างไรก็ตามไม่ได้ปฏิเสธในการนับคาร์บ แต่ต้องหาวิธีการที่ตอบโจทย์ในเชิงปฏิบัติและข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สะท้อนได้และต้องคำนึงถึงตัวปัจจัยอื่นด้วย มิฉะนั้นสิ่งที่กังวลคือไปมุ่งเน้นตัวนี้และจะลืมปัจจัยเสี่ยงตัวอื่น เพราะการนับคาร์บอาจจะไม่ได้ไปแก้ปัญหาให้กับทุกคน เพราะบางชุมชนอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของอาหารการกินบางอย่างด้วย” ผศ.ภูริทัต กล่าว