ไขข้อของใจ “หักข้อนิ้ว” บ่อยๆ ส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่?
มีหลายครั้งที่ได้เห็นคนชอบหักข้อนิ้วให้ดังเล่นๆ เพราะมองว่าช่วยแก้เมื่อยนิ้วแถมมีหลายคนคิดว่าทำแล้วเท่อีกด้วย แต่จะมีใครรู้บ้างว่าการหักข้อนิ้วบ่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อกระดูกข้อนิ้ว หรือส่วนอื่นๆ ในอนาคตหรือเปล่า วันนี้เราเลยมาพูดถึงกัน
“หักข้อนิ้ว” บ่อยๆ ส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ในส่วนของข้อนิ้วมือ จากการวิจัยในคน 300 คน ซึ่งชอบหักนิ้วมือมาตลอด 35 ปี พบว่า การหักนิ้วมือเป็นประจำไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพแต่อย่างใด แต่อาจมีผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ข้อนิ้วมือปูดบวมหรือผิดรูป เนื่องจากเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงแรงในการกำมือลดลง เมื่อทำต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
เพราะฉะนั้น “ผลเสีย” ของการหักนิ้วที่ปรากฏชัดเจนเลยคือ มันอาจทำให้กระดูกโปนใหญ่ได้ และยังทำให้ความแข็งแรงของมือลดลงอีกด้วย โดยเฉพาะกระดูกของเด็กเล็กที่ยังมีการพัฒนาเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ ซึ่งถ้าให้มองถึงความเป็นจริง คงไม่มีเด็กเล็กคนไหนมาเล่นหักนิ้วกัน แต่อีกหนึ่งสิ่งที่คนกังวล ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นผู้หญิง ก็คือการหักกระดูกนิ้ว อาจทำให้กระดูกเจริญเติบโตผิดปกติ นอกจากจะโปนใหญ่ขึ้น มือไม่เรียวสวยงามเหมือนที่ควรจะเป็น แล้วอาจทำให้กระดูกนิ้วผิดรูป บิดเบี้ยว ไม่ได้รูปทรงตามปกติ
เสียงจากการหักข้อนิ้ว เกิดขึ้นได้อย่างไร
ข้อมูลจากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ระบุว่า หักนิ้วมือหรือข้อนิ้วมือนั้น เสียงดังก็อกที่ได้ยินเกิดจากการแตกตัวของฟองอากาศจากของเหลวหล่อลื่นที่เรียกว่า น้ำไขข้อ ซึ่งน้ำไขข้อนี้จะทำหน้าที่หล่อลื่น ช่วยให้ข้อต่อสามารถงอ เหยียด หรือเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด และเมื่อเราหักนิ้วมือด้วยแรงกดและความเร็วที่มากกว่าปกติที่เรางอนิ้วมือธรรมดา จะทำให้ความดันภายในน้ำไขข้อลดต่ำลงจนทำให้เกิดฟองขึ้นในน้ำไขข้อ ทำให้แก๊สในน้ำไขข้อไม่ละลายน้ำและแยกตัวมาอยู่ที่ฟองอากาศ ซึ่งเสียงดังนั้นก็มาจากการระเบิดของฟองอากาศในน้ำไขข้อนั่นเอง
หักข้อนิ้วบ่อย เสี่ยง “นิ้วล็อค” หรือไม่
ทางด้านของ นพ.นรฤทธิ์ ล้วนจำเริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า การหักนิ้วบ่อยๆ ไม่ได้ส่งผลเสียถึงขนาดเป็นนิ้วล็อคได้ แต่อาจทำกระดูกอาจจะโปนใหญ่กว่าคนปกติ เพราะการหักนิ้วบ่อยๆ ทำให้ตัวข้อนิ้วมือมีการบวมมากกว่าคนที่ไม่หักนิ้ว ซึ่งส่งผลแค่ลักษณะภายนอกเท่านั้น
ในส่วนของโรคนิ้วล็อค นั้นเกิดจากปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วอักเสบและหนาขึ้น ทำให้เอ็นที่อยู่ภายในไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามปกติ มักเกิดกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง และนิ้วนาง หรืออาจเป็นพร้อมกันหลายนิ้ว สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากพฤติกรรมการใช้มือต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป เช่น การถือหรือแบกของหนักเป็นเวลานาน ใช้อุปกรณ์ที่ต้องออกแรงกดต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์มากเกินไป เป็นต้น
ดังนั้นแล้วการหักข้อนิ้วมือนั้นไม่พบว่ามีอันตรายต่อกระดูก แต่หากทำพฤติกรรมนี้บ่อยๆ จะทำให้ปลอกหุ้มข้อเสื่อมได้ ส่งผลให้กำลังในการบีบมือลดลง เพราะเอ็นรอบข้อไม่แข็งแรง ดังนั้นจึงไม่ควรหักนิ้วเล่นบ่อยๆ เนื่องจากอาจส่งผลในระยะยาวได้