“ชัชชาติ” ปรับเกณฑ์ WFH ไม่ต้องรอ PM2.5 สีแดง หวังลดฝุ่นจากปริมาณจราจร กทม.
ผู้ว่าฯกทม. ย้ำ! ปัญหา PM 2.5 มาจากการใช้รถยนต์ในกรุงเทพฯ ไทยเผาชีวมวลเพิ่มขึ้น 20% เดินหน้ามาตรการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง-เปลี่ยนไส้กรอง ปรับเกณฑ์ WFH ประกาศเมื่อค่าฝุ่นระดับสีส้ม พร้อมชวนบริษัทเข้าร่วมโครงการให้พนักงานทำงานที่บ้าน
เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการต่าง ๆ กรณีมีการคาดการณ์ว่าจะมีค่าฝุ่น PM2.5 สูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า วันนี้เป็นวันที่ฝุ่นสูงอีกวันหนึ่ง แต่พรุ่งนี้การระบายก็จะดีขึ้น คาดว่าอัตราการระบายอากาศ (VR) จะดีขึ้นยาวไปประมาณ 3-4 วัน แน่นอนว่าปัญหาส่วนหนึ่งของฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครมาจากการใช้รถยนต์ ขณะเดียวกัน ตอนนี้จะเห็นว่ามีการเผาชีวมวลในพื้นที่ด้านนอกมากขึ้น โดยในประเทศไทยมีการเผาเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปีที่แล้ว
ในส่วนของกรุงเทพมหานครก็คงต้องเดินหน้ามาตรการเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรอง เรื่องโครงการ LOW EMISSION ZONE หรือห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป (ยกเว้น EV, NGV, EURO 5 และ 6) เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว เมื่อไรก็ตามถึงเกณฑ์เราก็จะประกาศไม่ให้รถบรรทุกเข้ามาได้ ยกเว้น EV, NGV, EURO 5 – 6 และรถที่ขึ้นบัญชีสีเขียว (Green List) ซึ่งปัจจุบันมีรถขึ้นทะเบียน Green List แล้วประมาณ 12,000 คัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรองไม่เยอะ โดยเราคาดไว้ 500,000 คัน ตอนนี้มีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรองประมาณ 200,000 คัน
ปรับเกณฑ์ WORK FROM HOME ไม่รอฝุ่นแดง
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า อีกมาตรการหนึ่งที่เราจะปรับปรุงคือเรื่อง WORK FROM HOME (WFH) ซึ่งเดิมมาตรการ WFH เราใช้เกณฑ์ค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง (ค่า PM2.5 ตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม.) 5 เขต แล้วก็คาดการณ์ล่วงหน้า 2 วัน เป็นสีแดง 5 เขต จึงจะประกาศ WFH แต่เราคิดว่าเนื่องจากการ WFH เป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ เพราะฉะนั้นเราจะลดมาตรการลงเพื่อให้ประกาศ WFH ได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ การ WFH จะทำให้ปริมาณการจราจรในถนนจะลดลง ทำให้การจราจรติดขัดน้อยลง การปล่อยฝุ่นสะสมจะน้อยลงด้วย โดยในช่วงกุมภาพันธ์ปี 2567 ที่ได้มีการประกาศ WFH ไปนั้น ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 151 แห่ง หรือประมาณ 60,279 คน ร่วม WFH ตามประกาศ พบว่าปริมาณการจราจรในท้องถนนลงลดเกือบ 10%
การที่เราปรับเกณฑ์เช่นนี้ก็เพื่อให้คนได้มีการเตรียมตัว ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย WFH ประมาณเกือบ 100,000 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 200,000 คน จึงขอเชิญชวนหากใครอยากจะร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนกับ กทม. ได้ผ่านลิงก์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr โดยเราอยากให้บริษัทเข้าร่วมโครงการกับเรา เพื่อจะได้มีการประกาศจากบริษัทในการให้พนักงาน WFH
ด้านนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมถึงเกณฑ์การประกาศ WFH ว่า จะมีการพยากรณ์ล่วงหน้า 1 วัน หากพบค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม (ค่า PM2.5 ตั้งแต่ 37.6 – 75.0 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 35 เขตขึ้นไป (70% ของพื้นที่กรุงเทพฯ) อัตราการระบายอากาศ (VR) ไม่ดี คือน้อยกว่า 2,000 ตารางเมตรต่อวินาที และพบจุดความร้อน (จุดเผา) เกินวันละ 80 จุด ติดต่อกัน 3 วัน จะมีมีการประกาศ WFH ซึ่งกรุงเทพมหานครกําลังติดตามอย่างละเอียดสำหรับต้นสัปดาห์หน้าในวันจันทร์ – อังคาร เนื่องจากเห็นว่าอัตราการระบายเริ่มจะไม่ค่อยดีตั้งแต่วันเสาร์ – อาทิตย์ โดยจะมีการแจ้งอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ อีกแนวคิดหนึ่งซึ่งกําลังดำเนินเนินการโดยอยู่ในขั้นตอนของนักวิชาการ คือ ตอนนี้เรามีโครงการรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ แล้ว มีทางด่วนต่าง ๆ เยอะ จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการพ่นฝอยละอองโดยไม่ใช่เฉพาะตรงสถานี แต่ต้องขยายผลตามแนวรถไฟฟ้า อาทิ สายสีเขียว สีเหลือง สีชมพู หรือทางด่วน ตลอดจนถนนลอยฟ้าต่าง ๆ ที่มีการจราจรติดขัดด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจจะช่วยในเรื่องของ PM10 ที่สามารถแตกตัวเป็น PM2.5 ซึ่ง PM10 เป็นส่วนหนึ่งของการคํานวนค่า AQI และอาจจะมีผลต่อด้านอื่น แต่ต้องให้มั่นใจก่อนว่าฝอยละอองน้ำช่วยได้จริงหรือไม่ โดยจะรวบรวมหลักฐานทางวิชาการเพื่อยืนยันให้ชัดเจน แล้วจึงจะออกแบบทั้งระบบ เพราะฉะนั้น โครงการนี้ปีนี้อาจจะไม่ทัน ต้องขอให้ข้อมูลชัดเจนก่อน เนื่องจากจะเป็นโครงการขนาดใหญ่
แนะประชาชนใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นก่อนออกจากบ้าน
สำหรับภาพรวมระดับประเทศ ทางรัฐบาลเองก็เอาจริงเอาจัง หากมีมาตรการทางกฎหมายเข้มข้นว่าคนเผาผิดกฎหมายก็น่าจะเป็นแรงจูงใจได้ ส่วนในระดับ กทม. การเผาในพื้นที่แทบจะไม่มีแล้ว เราทำได้ค่อนข้างดีในการควบคุม เชื่อว่าการดำเนินการเหล่านี้จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งต้องช่วยกันหลายฝ่าย ต้องมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล และการใช้เทคโนโลยีอย่างฝนหลวง โดยทาง กทม. ก็ได้ประสานความร่วมมือกับทุกคนเพื่อหาทางออกให้ดีที่สุด
ในส่วนของประชาชน พบว่ามีความตื่นตัว มีการใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าเป็นการป้องกันตัวเองจากฝุ่น ซึ่งในช่วงที่ค่าฝุ่นสูงแล้วเราหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็ควรใส่หน้ากากก่อนออกจากบ้าน เพราะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยบรรเทาได้
ด้านรถเมล์ควันดํา ได้สั่งการให้ไปตรวจทุกอู่ คันไหนที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐานไม่ให้ออก หากเป็นรถบรรทุกให้ติดตามถึงไซต์ก่อสร้าง เมื่อพบควันดำเกินค่ามาตรฐานให้หยุดการก่อสร้าง ซึ่งเราเคยทำไปแล้วในกรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินและต่อไปจะขยายผลไปยังรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำด้วย เพื่อให้เจ้าของงานร่วมรับผิดชอบในการไม่จ้างรถควันดำ ทาง กทม. จะตรวจอย่างเต็มที่ ส่วนประชาชนสามารถร่วมเป็นหูเป็นตาได้ โดยหากพบรถบรรทุกควันดำให้แจ้งผ่าน Traffy Fondue