ศบค.มท.กำชับผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ให้ปชช.ดูอาการ 7-10 วัน ตรวจ ATK หลังสงกรานต์
วันที่ 17 เม.ย. 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า พี่น้องประชาชนที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ พบปะสังสรรค์ ร่วมทำกิจกรรมวันสงกรานต์ ณ ภูมิลำเนาจังหวัดต่างๆ รวมถึงท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวร่วมกับสมาชิกในครอบครัวช่วงวันหยุดต่อเนื่องเทศกาลสงกรานต์ 2565 ได้เดินทางกลับเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดทำงานในวันที่ 18 เม.ย.
เพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงสั่งการและประสานไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด และปลัดกรุงเทพมหานคร เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนทุกคนที่ได้ร่วมกิจกรรมและเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้เฝ้าระวังสังเกตอาการของตนเองและครอบครัว เป็นเวลา 7-10 วัน
รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA ทั้งรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อย่างเคร่งครัดและหมั่นตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK อยู่เสมอ โดยเฉพาะหากพบว่าตนมีอาการหรือมีความเสี่ยงต้องตรวจด้วย ATK ทันที ถ้าผลเป็นลบให้พิจารณาตรวจซ้ำเมื่อครบ 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ โดยในช่วงระหว่างสังเกตอาการให้หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนโดยไม่จำเป็น
หากจำเป็นต้องพบปะผู้อื่น ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา และขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ บริษัท ห้างร้าน โรงงานในพื้นที่ ได้พิจารณามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการทำงานที่บ้าน ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน่วยบริการประชาชน ต้องไม่กระทบกับภารกิจในการให้บริการประชาชน
นอกจากนี้ให้ผู้ว่าฯ ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด บูรณาการร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
พร้อมทั้งยกระดับแผนการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ระดับต่างๆ ให้สามารถอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการรับแจ้ง การคัดกรอง การบริหารจัดการการรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) การบริหารจัดการสถานที่กักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) โรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนามระดับต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ต้องเร่งรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ได้ระมัดระวังตนเองและเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง