สธ. หารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุขไทย-ออสเตรเลีย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมหารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทย กับกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย 5 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนานักบริหารกระทรวงสาธารณสุข, การบริหารจัดการโควิด 19, Digital Health, Therapeutic Goods Administration (TGA) และมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (29 มิถุนายน 2566)ได้นำคณะผู้บริหาร ประชุมหารือทวิภาคีความร่วมมือสาธารณสุขไทย-ออสเตรเลีย ที่ Department of Health and Aged Care กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย พร้อมมอบของที่ระลึกแก่ Professor Brendan Murphy, Secretary of the Department of Health and Aged Care เครือรัฐออสเตรเลีย เนื่องในโอกาสลาออกจากตำแหน่ง โดยจะมีผลวันที่ 6 กรกฎาคม นี้
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า การหารือทวิภาคีครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนประเด็นด้านสาธารณสุขและความร่วมมือต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ การพัฒนานักบริหารกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้นำคณะนักบริหารระดับสูงมาศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย เนื่องจากมีระบบสุขภาพที่น่าสนใจ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้,การบริหารจัดการโควิด 19 ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศมีการทำงานอย่างเข้มแข็ง และออสเตรเลียมีอัตราการเข้าถึงวัคซีนค่อนข้างสูง ขณะที่ไทยสามารถบริหารจัดการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนโควิค 19 ในระดับปฐมภูมิได้ดี จากการที่มีอสม. ช่วยสนับสนุนการให้บริการในพื้นที่ ทำให้ออสเตรเลียมีความสนใจและขอแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการคัดเลือก การอบรม และคุณสมบัติของอสม.
ด้าน Digital Health ออสเตรเลียมีการนำ Digital health ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ และใช้ Telehealth ในช่วงโควิด 19 ระบาด ซึ่งมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้น รวมถึงมีระบบ Personal Health Record ในการเก็บข้อมูลประชากร ขณะที่ไทยมีการพัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษาดูงานที่นครซิดนีย์คณะนักบริหารระดับสูงได้เรียนรู้เรื่อง Hospital in the home (HiTH) ซึ่งเป็นประโยชน์มากและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้, ด้าน Therapeutic Goods Administration (TGA) ออสเตรเลียได้ร่วมมือกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยไทยมีความสนใจที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยฟัง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในเด็กประมาณ 200 คนต่อปี
ส่วนมาตรการการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ออสเตรเลียไม่ให้มีการซื้อขายโดยเด็ดขาด ยกเว้นผู้ที่กำลังพยายามเลิกบุหรี่ และเฝ้าระวังไม่ให้แปรรูปนิโคตินในรูปแบบหมากฝรั่ง ซึ่งออสเตรเลียได้ชมเชยไทยที่ไม่ให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลย และถึงแม้จะมีการลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าประเทศ แต่ก็ยังสามารถควบคุมอัตราการสูบบุหรี่ได้ดี