“หมอเฉลิมชัย” สรุปสถานการณ์โควิดไทย ล่าสุดเจอสายพันธุ์ EG.5.1 แพร่เร็วขึ้น 45% แต่รุนแรงเท่าเดิม
วันที่ 14 ก.ค. 66 นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย กล่าวถึงเรื่อง ไทยพบไวรัสโควิดสายพันธุ์ EG.5.1 แพร่เร็วขึ้น 45% แต่รุนแรงเท่าเดิม โดยระบุดังนี้
นับตั้งแต่ไทยเราพบโควิดเคสแรกเมื่อ 8 มกราคม 2563 นับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่าสามปีครึ่งแล้วนั้น แม้สถานการณ์ทั่วโลกและรวมทั้งประเทศไทยจะควบคุมการระบาดของโควิดได้ดี แต่ก็ยังคงมีโควิดแพร่ระบาดอยู่เกือบทุกประเทศ เพียงแต่อยู่ในลักษณะที่ความรุนแรงลดลงค่อนข้างมาก
เมื่อทบทวนการระบาดโควิดของไทย ระลอกแรกนั้น เกิดขึ้นในต้นปี 2563 เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น ตามด้วยระลอกที่สองในปี 2563 เช่นกันเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า ในปี 2564 เป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งรุนแรงที่สุด มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 20,000 คน จนสุดท้ายในต้นปี 2565 กลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอน และเป็นสายพันธุ์หลักที่ยืนระยะนานมากจนปัจจุบันมากกว่าหนึ่งปีหกเดือนแล้ว มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา โชคดีที่การกลายพันธุ์ทั้งหมดนั้น ไม่ได้มีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น แต่มีการพัฒนาทำให้แพร่ระบาดเร็วขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น
สำหรับประเทศไทยเรา โอมิครอนได้มีการกลายพันธุ์มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ BA.1 เป็น BA.2 , BA.4/5 และขยับเป็นตระกูล XBB.1.5 และ XBB.1.16 ซึ่งเป็นหลักในขณะนี้
ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานว่า พบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ EG.5.1 หรือ XBB.1.9.2.5.1 ซึ่งมีการรายงานทั่วโลกในรอบสามเดือน พบว่าแพร่เก่งกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 45% แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น
ในประเทศไทยนั้น ขณะนี้พบแล้ว 5 ราย ส่วนทั่วโลกนั้นในทวีปเอเชียพบมากที่สุด 1385 ราย ยุโรป 203 รายและอเมริกาเหนือ 360 ราย โดยในทวีปเอเชีย 5 อันดับแรกที่พบมากได้แก่ ประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกงตามลำดับ ส่วนไทยพบมากเป็นลำดับที่ 9 คือพบแล้ว 5 ราย
กล่าวโดยโดยสรุป
1) ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ EG.5.1 ยังคงเป็นไวรัสในตระกูลโอมิครอน
2) มีความสามารถในการแพร่ระบาดติดเชื้อเร็วกว่าเดิม 45% และความรุนแรงเท่าเดิม
ก็คงจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ตามปกติ เพียงแต่จะต้องตระหนักว่า โควิดยังมีการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้ แม้จะไม่รุนแรง ในกลุ่มเสี่ยง 608 แนะนำให้ใส่หน้ากากเวลาอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยง และพิจารณาการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ถ้าสามารถทำได้
Reference
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์