สธ.-อว. วางแนวทางการเตรียมความพร้อมและการตอบสนอง กรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี
กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สานเจตนารมณ์ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้สามารถรับมือและตอบโต้ตามมาตรฐานสากลมุ่งสู่เป้าหมาย “การรู้รับ – ปรับตัว – ฟื้นเร็วทั่ว – อย่างยั่งยืน”
วันที่ 17 ก.ค. 66 ที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการเตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (Medical Preparedness and Response for Radiological and Nuclear Emergency) โดยมี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นสักขีพยาน
นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริม ยกระดับภารกิจด้านการเตรียมความพร้อม และการตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมถึงตอบโต้ภัยฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับบริบทของประเทศ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 แผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. 2564 – 2570 และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงในโครงการ “เตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (Medical Preparedness and Response for Radiological and Nuclear Emergency)” เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐาน เป้าหมายและการปฏิบัติงานให้มีความเชื่อมโยงทุกระดับ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงและจัดการสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ “การรู้รับ – ปรับตัว – ฟื้นเร็วทั่ว – อย่างยั่งยืน”
โดย กระทรวงสาธารณสุข จะมีภารกิจในการประสานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติ ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานงานกลางของหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในระดับต่างๆ สนับสนุนและพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากร ระบบข้อมูลสารสนเทศ องค์ความรู้ นวัตกรรมด้านบริหารจัดการในการจัดการภาวะฉุกเฉิน รวมถึงด้านวิชาการในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ขอบเขตและแนวทางการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดนโยบาย, การสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็ง, บริหารจัดการระบบฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสถานพยาบาล, พัฒนาศักยภาพบุคลากรและงานด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง, การกำหนดรายละเอียดเฉพาะเรื่องให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ,การติดตามประเมินผลร่วมกัน, จัดตั้งคณะทำงาน รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีภารกิจในการเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และกำกับให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ประชาชน และสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการ กำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี ตามพันธกรณีหรือความตกลงระหว่างประเทศและมาตรฐานสากล