กรมสุขภาพจิต รับ “โควิด” ยังกระทบเครียด-เสี่ยงฆ่าตัว หนุนยาจิตเวชออกฤทธิ์ยาว ลดผู้ป่วยในชุมชนก่อเหตุรุนแรง
วันที่ 19 ก.ค. 66 ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเปิดการประชุมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566 “ภาคีความร่วมมือ สร้างสังคมผาสุก หยุดทุกความรุนแรง” ว่า แม้การระบาดของโควิด 19 จะลดลงไปมากแล้ว แต่ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจยังเกิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเครียด อารมณ์เศร้า ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายและความรุนแรงในระดับต่างๆ ก็ยังไม่ทุเลา อาจจะเนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสภาวะแวดล้อมต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดังนั้น การเข้าใจปัญหาความรุนแรงที่เป็นพลวัตร การเรียนรู้จากประสบการณ์ในการจัดการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างภูมิต้านทานในการขจัดความรุนแรงในมิติต่างๆ ในสังคม โดยการระดมความร่วมมือทุกภาคีเครือข่าย เป็นกลไกสำคัญในการลดความรุนแรง สร้างสังคมมีความสงบสุขอย่างยั่งยืน
พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมฯ ได้วางแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาหลากหลายรูปแบบ กระจายทุกมิติ กรณีเป็นความเจ็บป่วยได้ป้องกันไม่ให้เกิดโรคจิตเวชมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไปเสริมให้เกิดความรุนแรง โดยดำเนินการเชิงรุกเข้าไปดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื้อรังทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี ดูแลผู้ที่เจ็บป่วยทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ โดยร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลทั้งสุขภาพทางสังคม สุขภาพทางการเงิน รวมถึงกลุ่มผู้ต้องหาและผู้ที่ก้าวพ้นจากเรือนจำ และกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจ โดยทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมดูแลสภาพจิตกลุ่มเป้าหมาย แทรกซึมเท่าที่จะทำได้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่กำลังเร่งรัดทำให้ดีที่สุด
“นอกจากนี้ ยังได้หารือกับ สปสช.ดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนที่มีมากขึ้น เนื่องจากปัญหายาเสพติด โดยสนับสนุนให้ได้รับบริการยาเวชภัณฑ์ที่ทันสมัยขึ้น ออกฤทธิ์ยาวนานขึ้น เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วย อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่ในการดูแลควบคุมผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ก่อความรุนแรง สร้างปัญหามากขึ้น” พญ.อัมพรกล่าว