“วราวุธ” รมว.พม. เตรียมขอเพิ่มงบค่าอาหารเด็กในสถานรองรับ หนุนเปิดศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพของประชาชน วอน กสทช. เร่งเปิดบริการตู้ TTRS ช่วยคนพิการทางการได้ยิน
วันที่ 4 ต.ค. 66 ที่บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวง พม. ว่า การทำงานเชิงงบประมาณ กระทรวง พม. ได้รับงบประมาณในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างน้อยมาก ซึ่งการที่จะพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของกระทรวง พม. นั้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณในด้านการลงทุน ไม่ได้หมายถึงสิ่งปลูกสร้าง แต่คือการได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ มาพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน ล้วนแล้วแต่อยู่ในงบประมาณลงทุนของแต่ละกระทรวง ที่ผ่านมา งบประมาณของกระทรวง พม. ที่ได้รับเมื่อเทียบกับภารกิจแล้ว ถือว่าน้อยมาก ดังนั้น การที่กระทรวง พม. จะเติบโตและเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน ทั้งทางด้านจิตใจและความมั่นคงได้นั้น การทำงานในงบประมาณลงทุนจะต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ ซึ่งพรุ่งนี้ จะมีการเชิญผู้แทนจากสำนักงบประมาณ มาพูดคุยกันในเรื่องกรอบแนวทางของงบประมาณปี พ.ศ. 2567 อีกทั้งได้ให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ติดตามเกี่ยวกับประเด็นเรื่องงบค่าอาหารของเด็กที่อยู่ในความดูแลของสถานรองรับของกระทรวง พม. ซึ่งการที่จะไปของบประมาณเพิ่มจากสำนักงบประมาณได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาตัวเลข หลักการ การวิเคราะห์ว่าเด็กแต่ละช่วงวัยต้องได้รับสารอาหารเท่าไหร่ อย่างไร และคำนวณออกมาเป็นค่าอาหารต่อมื้อต่อหัวต่อวัน เป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปได้เราจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งประมาณการในปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. ทั้งกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือร่างกฎหมายใหม่ ๆ ที่กำลังจะออกมา ซึ่งจะมีประเด็นอะไรบ้างที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. จะมีการพูดคุยถึงเรื่องศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพของประชาชน หรือ ศรส. (Human Security Emergency Management Center) หรือ HuSEC ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางที่จะทำให้กระทรวง พม. ก้าวไปข้างหน้าอีกก้าว สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนทางด้านสังคม โดยจะทำหน้าที่รับเรื่อง ประสานงานภายในกระทรวง พม. แล้วทำหน้าที่สื่อสารให้กับพี่น้องประชาชนได้เข้าใจ ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการทำร้ายเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. จะเข้ามาที่ ศรส. และจะประสานส่งต่อไปยังสายด่วน พม. โทร. 1300 หน่วยเคลื่อนที่เร็ว อีกทั้งจะประสานไปยังทีมสหวิชาชีพ เพื่อเข้าไปเยียวยาและแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งศูนย์นี้จะไม่ใช่การทำงานของกรมใดกรมหนึ่ง แต่จะเป็นการทำงานร่วมกันของทุก ๆ กรมในกระทรวง พม. ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดใช้งานได้เร็วที่สุด
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีกระแสข่าวจะมีการปิดให้บริการชั่วคราวของตู้ TTRS (Thai Telecommunication Relay Service) หรือ ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 3 – 9 ตุลาคม 2566 ซึ่งบริการตู้ TTRS เป็นโครงการศูนย์ล่ามภาษามือออนไลน์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เพื่อช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย (คนหูหนวกและคนหูตึง) ให้สามารถสื่อสารกับบุคคลทั่วไปหรือหน่วยงานต่างๆ ได้ ซึ่งตนได้รับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา และเห็นว่าคนพิการทางการได้ยินจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะเท่ากับว่า บริการติดต่อสื่อสารจะหายไป แม้เป็นเพียงระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ก็ตาม หรือเพียงวันเดียวก็นานเกินไป ทั้งนี้ ตนได้ประสานงานกับ กสทช. และฝาก กสทช. เรื่องของงบประมาณหรือการดำเนินการว่า มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่างบประมาณดูแลการให้บริการตู้ TTRS เป็นจำนวนไม่มาก หากเทียบกับงบประมาณของ กทสช. ทั้งหมด ซึ่งตนมั่นใจว่าจะสามารถนำมาจ่ายให้กับการบริการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินให้ได้ใช้ภาษามือ เป็นการช่วยชีวิตและอำนวยความสะดวกให้คนพิการทางการได้ยินอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ กระทรวง พม. ขอขอบคุณ กสทช. ที่ได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด และหวังว่าคนพิการทางการได้ยินจะได้รับการบริการตู้ TTRS อย่างต่อเนื่องต่อไป